รายงานจาก Paessler ระบุว่า แนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน (Sustainability) และการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ขององค์กรต่างๆ ในไทย มักมีเส้นทางที่แยกกันอย่างชัดเจน เป็นสาเหตุทำให้ไม่บรรลุผลเท่าที่ควร
โดยรายงานได้เปิดเผยเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 จาก Paessler ผู้เชี่ยวชาญด้านการมอนิเตอร์โครงสร้างและเครือข่ายระบบ IT ในหัวข้อ “ทิศทางที่ต้องจับตา: การมอนิเตอร์ระบบ คือ เส้นทางสู่ระบบ IT ที่ยั่งยืน” ระบุถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในธุรกิจต่างๆ โดยเจาะลึกลงไปถึงปัจจัยขับเคลื่อนและอุปสรรคต่อการดำเนินแผนด้าน IT ที่ยั่งยืน
ข้อมูลในรายงานแสดงถึง อุปสรรคสำคัญต่อการเดินหน้าตามแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในไทย มีดังนี้ ปัญหาการขาดความรู้เชิงเทคนิคในการดำเนินแผนงาน (58%) การขาดความชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐในเรื่องมาตรฐานการรายงานผล (53%) ต้นทุนการดำเนินแผนงาน (48%) และปัญหาการบริหารตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโต (40%) ดังภาพประกอบหลัก
องค์กรต่างๆ ในไทยราว 55% มองสถานการณ์ในแง่บวกและมั่นใจในสถานการณ์ธุรกิจในอีก 3 ปี ข้างหน้า รายงานยังเปิดเผยด้วยว่า ธุรกิจในไทย มองเรื่องความยั่งยืน และการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เป็นคนละส่วนโดยไม่เกี่ยวข้องกัน ทำให้องค์กรต่างๆ จัดทำกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนและกลยุทธ์ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแยกจากกัน ท้ายที่สุดก็ทำให้การใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ เวลา และทักษะ ไม่บรรลุผลเท่าที่ควร อีกทั้งยังขาดความสามารถ และความชำนาญในการจัดทำ กรอบการทำงานด้านความยั่งยืนและดำเนินการตามแผนดังกล่าว จนเห็นได้ชัดว่าแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนและการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นขององค์กรต่างๆ ในไทย ไม่ได้เดินไปในทิศทางเดียวกัน
ขณะเดียวกัน องค์กรในไทยต่างตระหนักถึง ประโยชน์ของการมอนิเตอร์โครงสร้างระบบ IT ไม่ว่าจะในฐานะฟันเฟืองหลักในกลยุทธ์ IT ขององค์กรที่ช่วยมอนิเตอร์ปัจจัยในสภาพแวดล้อม เช่น ความชื้น คาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ (100%) ปรับปรุงและลดการใช้พลังงาน (95%) แจกแจงตัวเลขการประหยัดทรัพยากร (92%) วิเคราะห์ความจำเป็นที่แท้จริงของอุปกรณ์ IT (86%) และลดการปล่อยมลพิษ (78%)
ดังนั้นกลยุทธ์ IT ที่ยั่งยืนภายใต้กรอบการมอนิเตอร์ระบบที่ครอบคลุมจึงถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพราะกลยุทธ์ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน จะช่วยผสานองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนเข้าด้วยกัน เช่น การจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และองค์ประกอบด้านอื่นๆ
ในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวราว 3.6% [1] ขณะที่ธุรกิจจำนวนมากก็หันมาให้ความสำคัญกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ความยั่งยืน การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก[2]
[1] Source: Thailand Economic Monitor report
[1] Source: IMF report
เฟลิกซ์ เบิร์นดท์ ผู้จัดการฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Paessler กล่าวว่า “ธุรกิจจำนวนมากมองว่าความยั่งยืนและผลกำไรไปด้วยกันไม่ได้ แต่ถ้าวัดผลด้วยค่าที่ถูกต้อง ก็จะทราบว่าการประหยัดค่าใช้จ่ายและความได้เปรียบทางการแข่งขันล้วนเกิดขึ้นได้จริง สิ่งสำคัญก็คือ การจัดทำกลยุทธ์ IT และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่ชัดเจน ตลอดจนการจัดทำกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน ที่ทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงอยู่ ภายใต้เฟรมเวิร์กการมอนิเตอร์ระบบ IT ที่ครอบคลุม การลดช่องว่าง ระหว่างแผนงาน ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันกับความยั่งยืน เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่อิงตามข้อมูล จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากร อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และให้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจแก่ธุรกิจ”
หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติงานของบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคแห่งหนึ่งในไทยอธิบายว่า “โรคระบาดได้เปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจของเราในทุกวันนี้ หากเราไม่ปรับโมเดล และหันหัวไปทางอีคอมเมิร์ซและการขายตรงถึงลูกค้า ธุรกิจก็คงเดินหน้าไปลำบาก เส้นทางการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของเราค่อนข้างประสบความสำเร็จ และเราจะยังเดินหน้าตามแนวทางนี้ต่อไป”
แนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน (ESG) และแผนงานด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่เดินไปคนละทิศคนละทาง
แม้ความยั่งยืนจะจัดอยู่ในความสำคัญ 1 ใน 3 ลำดับแรกของธุรกิจในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่กลับไม่ติดอันดับ 1 ใน 5 ปัจจัยที่ท้าทายของธุรกิจในทุกตลาดและภาคส่วน ซึ่งประกอบด้วยการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน การเติบโต (เพิ่มรายได้) การเพิ่มผลกำไร (กำไรสุทธิ) และการบริหารผู้มีความสามารถโดดเด่น สำหรับปัจจัยขับเคลื่อน 3 อันดับแรกในการดำเนินแผนตามกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน ได้แก่ ชื่อเสียง (45%) มาตรฐานการปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม (36%) และการปฏิบัติตามกรอบและกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแล
ธุรกิจด้านเทคโนโลยี โทรคมนาคม และศูนย์ข้อมูล (82%) ถือเป็นกลุ่มที่มีความพร้อม ด้านกลยุทธ์ IT ที่ยั่งยืน ตามมาด้วยธุรกิจในภาคการผลิต (79%) และบริการที่สำคัญต่อสาธารณะ/ภาครัฐ (66%) ขณะที่ภาครัฐค่อนข้างล่าช้าในเรื่องดังกล่าว มีเพียง 31% เท่านั้นที่ระบุว่า จะเริ่มดำเนินกลยุทธ์ IT ที่ยั่งยืนในปีหน้า การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน เพราะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมจะช่วยในการมอนิเตอร์และปรับปรุงการใช้พลังงาน ลดของเสีย และทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดความคล่องตัว และเมื่อนำเทคโนโลยีการมอนิเตอร์ระบบ IT ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาใช้งานในส่วนต่างๆ ก็จะช่วยเพิ่มพูนข้อมูลและยกระดับกลยุทธ์ IT ที่ยั่งยืนให้ดียิ่งขึ้น
หมายเหตุ
รายงานของ Paessler ที่ชื่อว่า ทิศทางที่ต้องจับตา: การมอนิเตอร์ระบบคือเส้นทางสู่ระบบ ITที่ยั่งยืน จัดทำโดย Intuit Research ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงมีนาคม 2566 เพื่อทำความเข้าใจแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในปัจจุบันของธุรกิจต่างๆ โดยเจาะลึกลงไปถึงปัจจัยขับเคลื่อนและอุปสรรคต่อการดำเนินแผนด้าน IT ที่ยั่งยืน โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้มีอำนาจตัดสินใจในธุรกิจขนาดใหญ่ (รายได้ 50 ล้าน ถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และรวบรวมความคิดเห็นจากผู้มีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจระดับอาวุโสใน 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ ภาคการผลิต บริการที่สำคัญต่อสาธารณะ และเทคโนโลยี/โทรคมนาคม/ศูนย์ข้อมูล