บทความโดย รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี
ปลายปีที่ผ่านมามีข่าวว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีผู้สมัครเรียนลดลง 17% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี หลังจากนั้นต้นปีนี้ก็มีข่าวว่า สถานะการเงินมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระส่ำ หลังผู้บริจาครายใหญ่จำนวนมากประกาศยุติการสนับสนุนเพราะ คลอดีน เกย์ (Claudine Gay) อดีตอธิการบดี ไม่แสดงจุดยืนประณามกลุ่มฮามาส กูรูคาดอาจกระทบสถานะเครดิตพันธบัตรมหาวิทยาลัย
ใช่ครับ…มหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกา ต้องพึ่งเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนและเงินบริจาค และการบริจาคเงินของผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในผู้บริหารมหาวิทยาลัยและความผูกพันกับมหาวิทยาลัย
หันมามองมหาวิทยาลัยของรัฐในบ้านเรา ก็จะพบว่าเริ่มไม่แตกต่างกัน ข้อมูลจากบทความ “ดุลยภาพดุลยพินิจ : การคลังเพื่อการศึกษาอัตราการพึ่งตนเองในมหาวิทยาลัยของรัฐ” ที่ลงในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ระบุว่า งบประมาณและการคลังของมหาวิทยาลัยของรัฐไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ โดยดำเนินการอย่างเงียบๆ ถ้าไม่สังเกตอาจไม่รู้
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลงบประมาณย้อนหลัง 6 ปี ช่วงปี พ.ศ. 2561-2566 พบว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องพึ่งพางบประมาณของตัวเองมากกว่า 50% โดยจาก 76 สถาบันอุดมศึกษาของรัฐต้องพึ่งพาเงินนอกงบประมาณโดยเฉลี่ยสูงถึง 63.29% ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล มีอัตราสูงสุดถึง 79.9% ตามด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยอัตรา 78.3%, 76.1% และ 73.1% ตามลำดับ
กล่าวคือเงินส่วนใหญ่ที่จะนำมาบริหารจัดการมหาวิทยาลัยของรัฐในแต่ละปีต้องจัดหาเอง ที่ผ่านมาหลายมหาวิทยาลัยอาจหารายได้มาจากค่าธรรมเนียมการศึกษา การบริหารจัดการทรัพย์สิน เช่น อาคารและที่ดิน และรายได้จากโรงพยาบาล แต่ด้วยวิกฤติของจำนวนประชากรที่ลดลง ความจำเป็นที่คนจะเข้ามาศึกษาต่อก็ลดลง รายได้จากค่าธรรมเนียมการศึกษาจึงลดลงไปอย่างมาก ประกอบกับมหาวิทยาลัยกำลังเจอวิกฤติเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี จึงไม่แปลกใจ ที่เริ่มมีข่าวว่า มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาจำนวนหลายพันแห่งน่าจะต้องปิดตัวลง และวิกฤตินี้ก็น่าจะมีผลกระทบลามมาถึงมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
แนวโน้มอนาคตมหาวิทยาลัยของรัฐในบ้านเราต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ ต้องทำงานคล้ายคลึงกับหน่วยงานภาคเอกชน คือเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอด เช่น เพิ่มสัดส่วนนักศึกษาต่างชาติ ปรับหลักสูตรใหม่ๆ การบริการทางวิชาการ จัดตั้งบริษัทลูกและร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆ เหมือนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แต่ถ้าถามว่า เอกชนหรือหน่วยงานข้างนอกที่ไหนละจะมาสนับสนุนมหาวิทยาลัย แน่นอนครับกลุ่มคนที่จะมาช่วยมากที่สุด ก็คือ “ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย” คนเหล่านี้จะมีความผูกพันกับมหาวิทยาลัยมากกว่ากลุ่มอื่น และหน่วยงานที่จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างศิษย์เก่ากับมหาวิทยาลัยได้ดีที่สุดคือ “สมาคมศิษย์เก่า”
ผมในฐานะที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง เห็นความแตกต่างของมหาวิทยาลัยที่มีสมาคมศิษย์เก่าที่เข้มแข็งกับที่อ่อนแอ สมาคมศิษย์เก่าบางแห่งสามารถที่จะระดมทุนนับร้อยล้านบาทมาสร้างอาคารให้กับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สำนักงบประมาณมักจะไม่จัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างอาคารให้กับมหาวิทยาลัยทั้งหมด ศิษย์เก่าบางสถาบันก็ต้องช่วยกันระดมเงินมาให้
สมาคมศิษย์เก่าบางมหาวิทยาลัยระดมทุนหลายสิบล้านบาทจากบริษัทหรือหน่วยงานของศิษย์เก่ามาจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม หรือทำบริษัทร่วมทุนกับมหาวิทยาลัย มาช่วยให้การสนับสนุนทางด้านงานวิชาการและงานวิจัย การมีสมาคมศิษย์เก่าที่มีพลังก็สามารถมาช่วยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่กำลังเกิดวิกฤติได้
ดังนั้นบทบาทของสมาคมศิษย์เก่าในวันข้างหน้ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่ออนาคตของมหาวิทยาลัย สมาคมวันนี้ไม่ใช่แค่จะเป็นเพียงแค่การสานสัมพันธ์กับศิษย์เก่า แต่ต้องได้นายกสมาคมที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ ประสบความสำเร็จในการงาน เป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง และบุคคลภายนอก
ต้องมีทีมงานที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกคณะทุกฝ่าย ต้องมีวิสัยทัศน์และเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องมีความตั้งใจและพร้อมที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม และที่สำคัญยิ่งต้องมีศักยภาพในการดึงพลังของศิษย์เก่าทุกฝ่ายมาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับมหาวิทยาลัย
ยิ่งในปัจจุบันสมาคมอาจต้องมีศักยภาพที่จะช่วยนำศิษย์เก่าที่มีกำลังทรัพย์ หรือมีความสามารถมาสร้างเครือข่ายในการทำงาน ผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับภาคเอกชน และอุตสาหกรรมมากขึ้น
ใช่ครับ…สมาคมในยุคนี้อาจไม่ใช่เป็นเรื่องแค่การจัดงานเลี้ยงหรือหาทุนเล็กน้อยให้กับมหาวิทยาลัย แต่คือพลังของการเปลี่ยนแปลงและอนาคตของมหาวิทยาลัย
ผมเชื่อครับว่า ทุกคนมีความรักและผูกพันกับสถาบันการศึกษาที่ตัวเองสำเร็จการศึกษามา ดังนั้นวันนี้หากมีการเลือกตั้งนายกหรือกรรมการสมาคม เราก็ควรเสียสละเวลาให้ความสำคัญ มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อให้ได้นายกสมาคมและกรรมการที่มีศักยภาพ อย่านิ่งเฉยหรือมองแค่เลือกเพื่อนฝูงมาสร้างความสัมพันธ์กันเอง แต่คงต้องมองภาพใหญ่
ต่อไปสมาคมอาจต้องมีหน้าที่ช่วยสร้างวิสัยทัศน์ สร้างความยั่งยืน ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย และที่สำคัญยิ่งคงต้องเป็นเครือข่ายที่จะมาช่วยระดมงบประมาณในการบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคต ดังนั้นนายกสมาคมคงต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารอย่างสุดๆ และมีเครดิตที่ได้รับการยอมรับจากศิษย์เก่าที่พร้อมจะมาร่วมมือช่วยกันทำงานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับมหาวิทยาลัย