บทความโดย: ดร.เอื้อมพร ปัญญาใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน)
ในอดีตการจะวัดความสำเร็จขององค์กรธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือเล็ก น้ำหนักจะไปอยู่ที่การเติบโตทั้งรายได้และกำไร แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญกับภาวะความท้าทายไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจ แต่ประเด็นทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปของระบบเศรษฐกิจ และสังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ๆ พร้อมๆ กับการล้มหายตายจากของธุรกิจใหญ่ๆ หลายธุรกิจที่เคยรุ่งโรจน์ในอดีต ทำให้กระบวนการทัศน์ในการพัฒนาเปลี่ยนไป
ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตได้คือ มีการพูดถึง “ความยั่งยืน” ขึ้น ผู้เขียนได้หยิบยกเอาประเด็นเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจมาทำงานวิจัยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แม้ข้อมูลอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่เชื่อว่าบริบทของความยั่งยืน และปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
จริงๆ แล้วประเด็นเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นที่เจ้าของธุรกิจและผู้บริหารองค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่มักจะตั้งคำถามในทุกๆ ปี โดยเฉพาะในช่วงการวางแผนกลยุทธ์องค์กร ว่าปีหน้าเราจะทำอะไรใหม่ อีก 5-10 ปีข้างหน้า ธุรกิจเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นธุรกิจครอบครัวก็จะต้องวางแผนทายาททางธุรกิจ ลูกหลานเราจะมารับช่วงต่อธุรกิจที่เราสร้างมาหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ก็จะมองไปในประเด็นการเติบโต หรือการขยายธุรกิจ
ทั้งนี้ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็อาจจะเป็นทางเลือกแรกๆ ของธุรกิจ ผู้ก่อตั้งธุรกิจจำนวนไม่น้อยวางแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท ซึ่งก็ถือได้ว่ามีวิสัยทัศน์ในการสร้างความยั่งยืน
อีกหนึ่งทางเลือกต่อการสร้างความยั่งยืน
การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นรูปแบบการระดมทุนระยะยาวแบบหนึ่งที่มีข้อดีคือ เป็นการเพิ่มเงินทุนให้กับกิจการซึ่งเป็นการเสริมสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร สร้างการรับรู้สู่สาธารณชนด้านความรับผิดชอบและการบริหารงานที่เป็นระบบแบบมืออาชีพ ตลอดจนการดำรงอยู่ของธุรกิจในระยะยาว หากแต่จะมีความท้าทายบางประการ
โดยความท้าทาย เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานที่เพิ่มขึ้น ความคล่องตัวในการตัดสินใจ การปรับเปลี่ยนองค์กร หรือการวางทิศทางและกลยุทธ์ รวมทั้งการบริหารการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้น รวมทั้งความไม่คล่องตัวในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทำให้องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งประสบกับปัญหาการสร้างความเติบโตและความยั่งยืน
ในส่วนของการลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนระยะยาวให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) ซึ่งเป็นแนวคิดการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนที่พิจารณาข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของธุรกิจควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
งานวิจัยชี้ 3 เรื่อง นำทางสู่ความยั่งยืน
ผู้เขียนในฐานะผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความสนใจในประเด็นเรื่องความยั่งยืน ได้ทำการค้นคว้าวิจัยและพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนมีหลายมิติ แต่มิติที่มีการให้ความสำคัญมาก คือ การเรียนรู้ขององค์กร นวัตกรรมองค์กร และผลประกอบการขององค์กร ซึ่งทั้ง 3 เรื่องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
คำถามที่สำคัญคือ ในบริบทของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจัยเหล่านี้เป็นอย่างไร ผู้เขียนทำการศึกษา 3 เรื่อง เริ่มต้นจากการสำรวจระดับการเรียนรู้ขององค์กร นวัตกรรมองค์กร ผลประกอบการองค์กร และความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จากนั้นจึงศึกษาความสัมพันธ์ของตัวแปรแต่ละตัวที่ส่งผลต่อความยั่งยืน และได้นำเสนอต้นแบบความยั่งยืนทางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้วิธีการแบบผสมผสาน โดยทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง การวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็น ผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จำนวน 360 คน
ผู้เขียนใช้การวิเคราะห์แบบจำลองสมการโครงสร้างใช้สถิติการวิเคราะห์สมการโครงสร้าง (Structural Equation Modelling: SEM) และพิจารณาความสอดคล้องของแบบจำลองกับข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วยค่าดัชนีความกลมกลืน (Model Fit Index) พบว่า ปัจจัยการเรียนรู้ขององค์กรมีอิทธิพลทางตรงต่อผลประกอบการขององค์กร นวัตกรรมองค์กร และต่อความยั่งยืนของธุรกิจ
ในขณะที่นวัตกรรมองค์กร มีอิทธิพลทางตรงต่อผลประกอบการ และความยั่งยืนของธุรกิจ อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่ค้นพบคือ ปัจจัยทั้ง 3 ตัว คือ นวัตกรรมองค์กร ผลการดำเนินงานขององค์กร และการเรียนรู้ขององค์กร สามารถร่วมกันทำนายความยั่งยืนของธุรกิจได้ ซึ่งเป็นปัจจัยการสร้างความสมดุลย์ระหว่างผลประกอบการทางด้านการเงินของบริษัทจดทะเบียนและการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) ตามแนวคิดการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของธุรกิจควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ในการพัฒนาโมเดลต้นแบบความยั่งยืน ผู้วิจัยได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกเพิ่มเติมกับบริษัทจดทะเบียนจำนวน 12 บริษัท ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทจดทะเบียนไทยที่เป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Index (DJSI) บริษัทที่ได้รับรางวัลทางด้านนวัตกรรม รวมถึงบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับรางวัล SET Sustainability Awards และบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็นหุ้นยั่งยืน พบว่า…
บริษัทบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริหารส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า การเรียนรู้คือรากฐานของการเติบโตขององค์กร และความสามารถในการเรียนรู้องค์กรจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมองค์กร ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางด้านผลิตภัณฑ์หรือบริการ นวัตกรรมการจัดการ นวัตกรรมทางด้านกระบวนการ การปรับปรุงรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ซึ่งจะพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ
การเรียนรู้ขององค์กรนั้นจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง และมีระบบการรับและแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งผู้บริหารและบุคลากรเป็นกลไกที่สำคัญที่จะส่งเสริมการเรียนรู้เป็นทีมที่สอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กร
LILP Model แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ “องค์กรแห่งการเรียนรู้”
ผู้เขียนได้เสนอแนะ ตัวแบบการเรียนรู้สู่ความยั่งยืนทางธุรกิจที่เรียกว่า “LILP Model” เป็นแนวคิดรูปแบบการเรียนรู้เชิงนวัตกรรมแบบบูรณาการเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ สำหรับบริษัทจดทะเบียน ประกอบด้วยภาวะผู้นำ (Leadership) นวัตกรรม (Innovation) รูปแบบการเรียนรู้ (Learning Platform)
“LILP Model” เป็นแนวคิดรูปแบบการเรียนรู้เชิงนวัตกรรมแบบบูรณาการเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ ซึ่งภาวะผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างนวัตกรรมผ่านรูปแบบการเรียนรู้แบบหลากหลายตามความเหมาะสมของประเภทธุรกิจ ขนาด และอายุของกิจการ ตลอดจนอุตสาหกรรมที่องค์กรนั้นอยู่ จึงใช้คำว่า Learning Platform ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการเรียนรู้เป็นไปอย่างไร้พรมแดน และด้วยขีดความสามารถทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้องค์กรธุรกิจสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพของพนักงานและองค์กร
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอตั้งประเด็นสำคัญสำหรับการนำ Learning Platform ไปใช้ประโยชน์ ว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีความหลากหลาย ทั้งในมิติด้านขนาดของธุรกิจ ประเภทของธุรกิจ ทำให้บริบทด้านนวัตกรรมองค์กร การเรียนรู้องค์กร มีความหลากหลาย ซึ่งหากจะนำไปใช้ควรต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ด้วย