Home » ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) จัดงานพลวัตเศรษฐกิจดิจิทัล

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) จัดงานพลวัตเศรษฐกิจดิจิทัล

โดย Reporter 1
159 views

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน การค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) ได้กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการ ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 2.5-3% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ ไม่ได้เป็นสภาวะที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนมากนัก

ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินยังสูงสร้างแรงกดดันต่อภาคธุรกิจที่มีโครงสร้างทางการเงินอ่อนแอ มีสัดส่วนหนี้สินสูงเมื่อเทียบกับทุน อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลต่อปัจจัยเหล่านี้มีทิศทางดีขึ้นในกิจการที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรมและอาหาร เป็นต้น 

สำหรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกนั้นเติบโตประมาณ 3 เท่าของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากการประเมินของ Digital Cooperation Organization การคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 3.3% จึงประมาณการเบื้องต้นได้ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของโลกจะขยายตัวในระดับเกือบ 10% และสัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลเทียบกับจีดีพีโลกเพิ่มขึ้นตามลำดับ ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 21% ของจีดีพีโลก

การไม่เตรียมพร้อมของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาครัฐการ ภาควิชาการและภาคแรงงาน จะทำให้ประเทศไทยโดยรวมสูญเสียโอกาสและตกขบวนของการพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากติดกับดักรายได้ระดับปานกลางมาหลายทศวรรษ แต่สิ่งที่น่าห่วงไม่ใช่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หรือบรรษัทข้ามชาติของไทย

ที่น่าห่วง คือSMEs ภาควิชาการและภาคแรงงาน ที่ทำให้เกิดปัญหาสะสมทั้งในมิติความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรม ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีโดยเฉพาะเอไอจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งไทย อย่างไรก็ตาม เกิดการขึ้นของเอไอราคาถูกจากจีนช่วยลดปัญหาการผูกขาดในธุรกิจอุตสาหกรรมเอไอได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่หมดไป

สอดคล้องกับข้อมูลผลสำรวจความคิดเห็นของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) และ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนใหญ่คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะแย่ลง

โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อย มีการเตรียมการปรับตัวต่อเศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในระดับต่ำ เนื่องจากไม่ตระหนักถึงความสำคัญว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่มีเงินทุนสำหรับลงทุน บางส่วนขาดสภาพคล่องทางการเงิน ปัจจัยที่ผู้ประกอบการคิดว่ามีผลกระทบต่อการลงทุนในปี 2568 มากเป็น 3 อันดับแรก คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และเสถียรภาพทางการเมือง

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้วิเคราะห์ถึง ประเทศและสังคมที่มีการเตรียมพร้อมที่ดี จะได้รับโอกาสมหาศาลจากเศรษฐกิจดิจิทัล ความก้าวหน้าเทคโนโลยีโดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ โดยโอกาส ความเสี่ยงและความวิตกกังวลจากระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลสามารถพิจารณาตามลักษณะดังต่อไปนี้   

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันและผันผวนเกิดขึ้นตลอดเวลา การบริหารความเสี่ยงและความเร็วในปรับตัวต่อพลวัตเป็นเรื่องสำคัญ ความเสี่ยงและความวิตกกังวลในอนาคตที่มีพลวัตสูงและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนกระทั่งต่อมีผลต่อกิจการ การดำเนินชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วย่อมได้รับผลกระทบอย่างมาก

ขณะที่ผู้ที่สามารถปรับตัวได้ และ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ Generative AI จะเกิดโอกาสอย่างมากในทางธุรกิจ สร้างงานใหม่ สร้างนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมากมายและเปลี่ยนแปลงสังคมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมหาศาล พร้อมกับความเหลื่อมล้ำของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่จะพร้อมขึ้นอย่างมากหากไม่มีการกฎระเบียบหรือระบบภาษีที่เท่าทันต่อพลวัตเหล่านี้     

ประการที่สอง เทคโนโลยีเอไอจะเพิ่มผลิตภาพและผลผลิตอย่างมหาศาลโดยใช้แรงงานมนุษย์น้อยลง ความเสี่ยงและความวิตกกังวัลของแรงงานมนุษย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สมองอัจฉริยะเอไอจะส่งผลต่อโครงสร้างของตลาดแรงงานมากขึ้นตามลำดับ กิจการจำนวนมากเริ่มนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต

อย่างเช่น หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ และ อาจส่งผลให้เลิกจ้างงานพนักงานจำนวนมากโดยเฉพาะงานผลิตซ้ำต่างๆที่มูลค่าต่ำ แต่ก็ไม่ใช่ทุกตำแหน่งจะเผชิญกับความเสี่ยง ด้วยเทคโนโลยีเดิมก่อนการเกิดขึ้นของ Generative AI งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ยังไม่สามารถนำระบบอัตโนมัติหรือ AI มาใช้แทนได้มากนัก

แต่ในอนาคตจะทดแทนได้มากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องนี้จะกระทบต่อประเทศไทยไม่มากเนื่องจาก ไทยจะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่จะมีคนบางกลุ่มไม่มีทักษะมากพอในการทำงานในระบบการผลิตแบบใหม่ ซึ่งภาครัฐต้องทำการ Upskill และ Reskill อย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบ นอกเหนือจากการดำเนินการผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการ 

ประการที่สาม ความเสี่ยงต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและประเด็นเรื่องความมั่นคง สื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลสามารถรวบรวมข้อมูลลูกค้า ประวัติการทำธุรกรรมต่างๆอย่างละเอียด พฤติกรรมในการใช้ชีวิต การบริโภคสินค้าและการใช้บริการ

ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาสร้างโปรไฟล์และอัลกอริทึมคาดการณ์เพื่อเข้าพฤติกรรมในอดีตและอนาคตของผู้บริโภค ผู้บริโภคบางคนมองว่าศักยภาพของ AI เป็นเหมือนเครื่องมือที่เปิดให้ปรับเปลี่ยนบริการและสินค้าตามความต้องการเฉพาะบุคคล(Personalization)จำนวนมากๆได้พร้อมกัน เรียกว่า สามารถทำ Mass Customization ได้นั่นเอง 

ประการที่สี่ วิถีชีวิตแบบดิจิทัลและผลข้างเคียงเชิงพฤติกรรม สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพกันลดลง แอฟพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย และเกมเสมือนจริงต่างๆ กระตุ้นความสนใจและช่วยให้ผู้คนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องจนผู้ใช้อยู่กับหน้าจอวันละหลายชั่วโมง

ทำให้การปฏิสัมพันธ์แบบพบปะสังสรรค์แบบดั้งเดิมลดลง การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง มีพฤติกรรมเสพติดสื่อสังคมออนไลน์และอยู่หน้าจอนานเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพและขาดการทำกิจกรรมอย่างอื่นในชีวิต

ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้กิจกรรมประจำวันสะดวกยิ่งขึ้นและออกแรงน้อยลงไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของใช้ให้ส่งถึงบ้านไปจนถึงเดินทางโดยอาศัย Google Map ขณะเดียวกันเป็นผลให้คนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปจนทำให้เกิด สิ่งที่เรียกว่า AI and Automation Bias ขึ้นได้ในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆทั้งการบริหารกิจการและในชีวิตประจำวัน

ประการที่ห้า สื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ก้าวเข้าแทนที่สื่อแบบดั้งเดิม สื่อใหม่เหล่านี้สามารถกุมอำนาจกำหนดมุมมองและสร้างกระแสความคิดที่มีอิทธิพลทางสาธารณะได้ เทคโนโลยีสื่อดิจิทัล และ Generative AI ที่สามารถเลียนเสียง หน้าตาและพฤติกรรมของบุคคลได้อย่างสมจริงจะทำให้เราแยกข้อเท็จจริงกับเรื่องลวงได้ยากขึ้น

การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือการบิดเบือนข้อมูลสามารถเกิดขึ้นได้และดูสมจริงอย่างยิ่งซึ่งเรียกกันว่า Deep Fake ความสามารถของเทคโนโลยี AI ช่วยให้ปลอมเสียงและวิดิโอเหมือนเป็นของจริง เราต้องหาวิธีในการปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับ Deep Fake เหล่านี้ การส่งต่อ ข่าวปลอม (Fake News) เกิดขึ้นได้ง่าย

โดยทางยูเนสโก (UNESCO) ได้จำแนกออกมาว่า ประกอบไปด้วย ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารเท็จที่จงใจสร้างขึ้น ข้อมูลผิด (Misinformation) เป็นข้อมูลผิดผลาดไปเองโดยไม่ได้ตั้งใจบิดเบือนซึ่งอาจเกิดจากความผิดผลาดในการแสวงหาข้อมูลมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (Malinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารลวง สร้างขึ้นมาจากพื้นฐานข้อมูลจริงบางอย่าง เจตนาของข้อมูลแบบ Disinformation ก็ดี ข้อมูลแบบ Malinformation ก็ดี ล้วนจงใจสร้างขึ้นเพื่อโจมตีใส่ร้ายทำลายเป้าหมายให้เกิดความเสียหาย

ประการที่หก การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลทำให้เกิดการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของบุคคลจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างแพลตฟอร์มและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกรรม การดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ การลงทุนต่างๆ

โดยไม่ถูกจำกัดโดยพรมแดนของรัฐชาติ ไม่ถูกจำกัดโดยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และสามารถเสนอบริการหรือผลิตสินค้าข้ามกิจการอุตสาหกรรมต่างๆได้ ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ จากงานวิจัยของ Goldman Sacks มีการประเมินเบื้องต้นบ่งชี้ว่า

ประการที่เจ็ด เกิดข้อมูลมหาศาลและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ข้อมูลขนาดใหญ่และฐานความรู้ดิจิทัลเร่งให้เกิดการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ MOOC (Massive Open Online Courses) เติบโตอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง และสามารถให้ AI วางแผนการอบรมออนไลน์และช่วยสอนได้ แพลตฟอร์มดิจิทัลและระบบนิเวศเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจ โดยทำให้ฝ่ายต่างๆ ได้แก่ บริษัทลูกค้า และ ผู้มีส่วนได้เสียอื่นเชื่อมต่อกันสนิทและทำให้การสื่อสารและการทำธุรกรรมไม่มีขีดจำกัดลดลงอย่างมาก

ประการที่แปด ชีวิตที่สุขสบายขึ้น ชีวิตอัจฉริยะ และยืนยาวขึ้น Neuralink โครงการของ อีลอน มัสก์ พัฒนาการฟังชิปคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างการเชื่อมต่อระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ทำให้มนุษย์ใช้สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด บ้านอัจฉริยะและสำนักงานอัจฉริยะทำให้ชีวิตของมนุษย์สะดวกสบายขึ้นอย่างมาก

ขณะที่ เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาว เมื่อนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้กับด้านสุขภาพช่วยให้ AI ค้นพบยาชนิดใหม่และการรักษาที่แม่นยำ ความรู้ทางด้านพันธุกรรมขั้นสูงและโครงสร้างยีน ทำให้มนุษย์ปรับแต่งโครงสร้างยีนเพื่อป้องกันและรักษาโรคพันธุกรรมได้ ประสาทเทคโนโลยีและสมองกลทำให้รักษาภาวะความบกพร่องของสมองได้

ประการที่เก้า การเพิ่มความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ Smart Grid  และพลังงานหมุนเวียนทำให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและมีการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในภาคอุตสาหกรรม AI ช่วยลดการสูญเสียตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การเลือกวัสดุ ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจแบบแบ่งปันได้ง่ายขึ้นภายใต้เทคโนโลยีใหม่

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

193,166

193,166

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด