สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จับมือ ฟอร์ติเน็ต ประเทศไทย ลงนามความร่วมมือในแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยฟอร์ติเน็ตพร้อมให้การสนับสนุนข่าวกรองด้านภัยคุกคาม (Threat Intelligence) และการโจมตีทางไซเบอร์ทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตลอดจนถึงวิธีแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้หน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ภายใต้การกำกับดูแลของสกมช. สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อการเฝ้าระวัง และตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างฉับไว
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่าการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของ New S-Curve หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีแนวโน้มเติบโตสูงและส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้น ข้อมูลความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการโจมตีและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ตลอดจนวิธีการแก้ไขและรับมือได้อย่างทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
“ที่ผ่านมา สกมช. ได้ทำงานร่วมกับฟอร์ติเน็ตมาโดยตลอด โดยเฉพาะในเรื่องการผลักดันให้เกิดการใช้งาน Zero Trust ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในการให้ความรู้ผ่านการทำ Workshop เพื่อร่วมสร้างกำลังคน การมอบโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ฝึกอบรมความรู้พื้นฐานมีความรู้ ได้ reskill/upskill ความรู้ที่มีอยู่เพื่อให้เป็นบุคลากรทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพต่อไป การลงนามความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเสริมความแข็งแกร่งของความร่วมมือทั้งในด้านเทคโนโลยี ด้านการสร้างบุคลากร และด้านอื่นๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต”
ภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่าในการส่งต่อข่าวกรองภัยคุกคามให้กับ สกมช. ฟอร์ติเน็ต ได้รับการสนับสนุนจาก FortiGuard Labs ผู้นําด้านข่าวกรองภัยคุกคามไซเบอร์ ซึ่งมีทีมผู้เชี่ยวชาญในการตรวจวิเคราะห์ภัยคุกคามจากห้องปฏิบัติการวิจัยภัยคุกคามที่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยข้อมูลที่ทางแล็บได้รับ ส่วนหนึ่งจะมาจากอุปกรณ์วิเคราะห์ภัยคุกคามนับหลายล้านชุดที่กระจายอยู่กับลูกค้ากว่า 700,000 รายทั่วโลก เพื่อการวิเคราะห์ให้ได้ข่าวกรองที่ถูกต้องและแม่นยํา ที่สำคัญ ทาง FortiGuard Labs ยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับองค์กรต่างๆ จำนวนหลายพันองค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ทั่วโลก เพื่อการอัพเดทข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง และทันต่อสถานการณ์ อีกทั้งยังมีสิทธิบัตรด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แมชชีน เลิร์นนิ่ง และเทคโนโลยีระดับสูงอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ในการประมวลผลข่าวกรองภัยคุกคามอีกด้วย
“ในโลกอาชญากรรมไซเบอร์ นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ก่อเกิดภัยคุกคามขั้นสูงอย่างต่อเนื่องแล้ว อาชญากรทางไซเบอร์เองก็หันมาใช้อาวุธทางเทคโนโลยีรูปแบบใหม่กันอย่างกว้างขวาง ดังนั้น การแบ่งปันข้อมูลและความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนจึงมีความสําคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างการมองเห็นภาพรวมด้านความมั่นคงปลอดภัยที่สมบูรณ์เพื่อตอบโจทย์การเฝ้าระวังให้ดีพร้อมมากยิ่งขึ้น ฟอร์ติเน็ตหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับอาชญากรรมทางไซเบอร์และภัยคุกคามในภาพรวมทั้งประเทศต่อไป” ภัคธภา กล่าว