เป๊ปซี่โคประกาศเดินหน้าโครงการ Greenhouse Accelerator ครั้งที่ 2 ในเอเชียแปซิฟิก (APAC) อันเป็นผลสืบเนื่องจากความสำเร็จของโครงการเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว โดยในครั้งนี้เป๊ปซี่โคตั้งเป้าที่จะสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาค โดยจะสนับสนุนและทำงานร่วมกับผู้ประกอบการที่กำลังพัฒนาโซลูชันอันทันสมัยในด้านเกษตรกรรมยั่งยืน การรับมือด้านสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจหมุนเวียน
เอเชียแปซิฟิกกำลังเดินหน้าครั้งสำคัญสู่ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนมากขึ้น ภายใต้ความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป๊ปซี่โคตระหนักถึงบทบาทในการเสริมสร้างแรงผลักดันและเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้
ดังนั้นจึงได้จัดโครงการ Greenhouse Accelerator APAC ภายใต้แนวคิดความยั่งยืน เพื่อแสวงหาความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมที่น่าสนใจในภูมิภาค เพื่อช่วยขับเคลื่อนบริษัทสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2583 โดยภายใต้โครงการครั้งนี้ เป๊ปซี่โคจะคัดเลือกผู้สมัครสูงสุด 10 ราย และมอบเงินสนับสนุน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 700,000 บาท พร้อมคอยให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งเป็นผู้บริหารและทีมผู้นำด้านต่างๆ ของเป๊ปซี่โค ขณะที่ผู้ชนะจะได้รับรางวัล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.5 ล้านบาท และจะประกาศผลในประเทศไทยในเดือนกันยายน 2567 นี้
โครงการประจำปี 2567 เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ถึง 18 มีนาคม 2567 สำหรับเหล่าสตาร์ตอัปในเอเชียแปซิฟิกที่มีโซลูชันตอบโจทย์ด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน การรับมือด้านสภาพภูมิอากาศ และเกษตรกรรมยั่งยืน เกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้ารอบจะดูจากระดับนวัตกรรม โอกาสในการขยายโมเดลธุรกิจ จุดแตกต่าง โอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงานหรือการดิสรัปต์ และพันธกิจในการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
เหวิน หยวน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป๊ปซี่โค เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “โครงการ Greenhouse Accelerator สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากเมื่อปีที่แล้วซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าภาคภูมิใจจนได้มีการเปิดโครงการนี้เป็นครั้งที่ 2 ปีที่แล้วเราได้ริเริ่มโครงการนำร่องทั้งหมด 7 โครงการ โดยทั้งหมดล้วนมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืน
โครงการต่างๆ แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความร่วมมือ โดยเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่โดดเด่นในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตรและอาหาร ซึ่งเราเชื่อว่าพันธมิตรรายใหม่ๆ ที่จะร่วมมือกับเราในครั้งนี้บวกกับเครือข่ายที่ครอบคลุมของเรา จะสร้างผลเชิงบวกให้ระบบนิเวศน์ด้านอาหารได้ในที่สุด”
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2560 โครงการ Greenhouse Accelerator มีบริษัทในโครงการกว่า 86 ราย ทั้งในตะวันออกกลางและแอฟริกา ยุโรปและแอฟริกาใต้สะฮารา สหรัฐอเมริกา และเอเชียแปซิฟิก โดยปัจจุบันรายได้รวมของสตาร์ตอัปเกิดใหม่เหล่านี้มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 700 ล้านบาท
เฉพาะในปีที่แล้วโครงการได้รับใบสมัครมากกว่า 100 ใบจากทั่วทุกพื้นที่ในเอเชียแปซิฟิก โดยมี Powered Carbon เป็นผู้ชนะรางวัล ด้วยผลงานโซลูชันการผลิตปุ๋ยคาร์บอนต่ำ ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าจากธรรมชาติในการเพาะเลี้ยงแบคทีเรีย ซึ่งได้มีการทำโครงการทดลองในฟาร์มมันฝรั่งของเป๊ปซี่โคในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน
สำหรับโครงการครั้งที่ 2 ในเอเชียแปซิฟิกครั้งนี้ เป๊ปซี่โคได้จับมือกับทางซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย), ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เวียดนาม เบเวอเรจ และ Circulate Capital โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และเพื่อปลูกฝังผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่สามารถขับเคลื่อนผลกระทบเชิงบวกด้านความยั่งยืน
อชิต โจชิ ซีอีโอ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เรามีการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมเชิงรุก ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ต่อนโยบายสู่ความยั่งยืน นวัตกรรม และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ เป๊ปซี่โคฯ ทุ่มเท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการภายใน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดของเรา รวมถึงมีความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในการดำเนินการเพื่อบรรลุสังคมคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) บริษัทกำหนดประเด็นสำคัญไว้อย่างชัดเจน รวมถึงการอนุรักษ์น้ำและการเติมน้ำ ส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนในวงจรของเศรษฐกิจหมุนเวียน และลดก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงาน ทั้งนี้ เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือจัดทำโครงการนี้ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม”
จันห์นเซิร์บ คาห์น ซีอีโอและผู้อำนวยการทั่วไป ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เวียดนาม กล่าวว่า “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เวียดนาม กลยุทธ์และเป้าหมายความยั่งยืนของบริษัทสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำมั่นสัญญาที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2568 เราได้ร่วมมือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อดำเนินการริเริ่มต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงงานผลิตและลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ (virgin plastic) ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้”
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Greenhouse Accelerator ประจำปี 2567 ในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แนวคิดความยั่งยืน ของเป๊ปซี่โค โปรดดูรายละเอียดทางเว็บไซต์ได้ที่ลิงก์ หรือทาง LinkedIn ของเป๊ปซี่โคที่ linkedin.com/company/pepsico
โครงการนำร่อง 7 โครงการจาก Greenhouse Accelerator APAC ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิดความยั่งยืน โดยโครงการที่ 7. Green2Get (อยู่ในประเทศไทย)
- Adiona
โซลูชัน SaaS จาก Adiona มุ่งเน้นไปที่การวางแผนและปรับปรุงเส้นทางการจัดส่งในส่วนปลายทางโดยอาศัยข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยมีที่ปรึกษาจากเป๊ปซี่โคคอยช่วยชี้ให้เห็นโอกาสในการปรับปรุงห่วงโซ่คุณค่าในออสเตรเลีย โรงงานของเราในทิงกัลปาได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการนำร่องครั้งนี้ด้วยเหตุผลด้านตำแหน่งที่ตั้งและความพร้อมของข้อมูลที่ใช้ในการประเมินเส้นทางและปรับปรุงกลยุทธ์การจัดส่งโดยใช้แพลตฟอร์ม SaaS ข้อมูลผลลัพธ์ที่ได้บ่งชี้ว่าการปรับปรุงเส้นทางดังกล่าวช่วยร่นระยะการเดินทางและลดการปล่อย CO2 ได้ถึง 19.4% จากเส้นทางขนส่งเดิมในทิงกัลปา
2. Aspiring Materials
Aspiring Materials จับการปล่อย CO2 โดยใช้วัสดุที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ ที่ปรึกษาของเราได้ร่วมงานกับ Aspiring Materials ในด้านสื่อการตลาดและช่วยชี้ให้เห็นโอกาสในการนำร่องด้วยการพิสูจน์แนวคิด ปัจจุบัน Aspiring Materials ยังได้จับมือกับเป๊ปซี่โคที่วิรีในออกแลนด์ เพื่อนำร่องโครงสร้างการจับคาร์บอนที่อาจมีประสิทธิภาพสูงในการจับ CO2 ถึง 1 เมตริกตัน
3. REMAKEHUB
REMAKEHUB ช่วยผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านบรรจุภัณฑ์ด้วยการทำอัปไซเคิลพลาสติกด้อยมูลค่าและการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค โดยที่ปรึกษาของเป๊ปซี่โคมองเห็นโอกาสในการทดแทนบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกที่เป็นบรรจุภัณฑ์ขั้นที่สองที่จำหน่ายแก่ลูกค้า ด้วยการใช้ฝาขวดโพลีเอทิลีนที่ผ่านกระบวนการอัปไซเคิลจนช่วยประหยัดต้นทุนได้กว่า 15% และได้เริ่มโครงการนำร่องไปแล้วเมื่อไตรมาสที่ 3 ปี 2566
4. Powered Carbon
Powered Carbon สามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นสารเคมีที่มีประโยชน์ด้วยการใช้พลังงานสะอาด ที่ปรึกษาของเราช่วยชี้ให้เห็นโอกาสในการประยุกต์ใช้โปรไบโอติกส์ในด้านเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ทางทีมไม่เคยศึกษามาก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ Accelerator และได้ร่วมมือกับทีมเกษตรกรรมของเป๊ปซี่โคและผู้จัดหาปุ๋ยในจีนเพื่อพัฒนาเป็นองค์ประกอบของปุ๋ย จนใช้ในการผลิตจริงและใช้ในฟาร์มที่ประเทศจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ผลลัพธ์ที่ได้เบื้องต้นแสดงให้เห็นถึงการลดฟุตพรินต์ของปุ๋ยได้ถึง 25%
5. HRK Group
HRK Group สร้างผลงานด้านการลดมลภาวะจากพลาสติกด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่ทำจากกระดาษกันน้ำที่เป็นไบโอเกรด 100% ย่อยสลายได้ และรีไซเคิลได้ โดยทาง HRK ได้ศึกษากระบวนการเปลี่ยนแป้งมันฝรั่งจากแผ่นมันฝรั่งทอดของเป๊ปซี่โคให้เป็นบรรจุภัณฑ์ขั้นที่สอง และปัจจุบันได้เน้นการประเมินผลไปที่การปรับปรุงกระบวนการแปลงสภาพเพื่อลดปริมาณความชื้นในแป้งมันฝรั่งที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์
6. MEDS Ventures
เครื่องมือ DECAPLAN ของ MEDS เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลรายเดียวในโลกที่รองรับการปรับปรุงและการลดปริมาณคาร์บอนในเขตอุตสาหกรรมแบบครบวงจรสำหรับการใช้พลังงานหลากหลายประเภทและภายใต้วัตถุประสงค์หลายด้าน โดยโครงการนำร่องครั้งนี้ ทาง MEDS ได้ร่วมมือกับ PGCS ของสิงคโปร์เพื่อประเมินการประหยัดพลังงานของเครื่องจักรทางการเกษตร
7. Green2Get (อยู่ในประเทศไทย)
Green2Get เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลและแอปพลิเคชันที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการเชื่อมโยงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าด้านรีไซเคิลเข้าด้วยกัน และอำนวยความสะดวกในการซื้อขายวัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังส่งเสริมการปรับปรุงการรีไซเคิลให้มีความยั่งยืนด้วย โครงการนำร่องของ Green2Get อาศัยแคมเปญทางโซเชียลมีเดียกับเลย์ในประเทศไทยเพื่อผลักดันให้เกิดการจัดเก็บและส่งคืนบรรจุภัณฑ์อ่อนตัวประเภทฟิล์ม