บทความโดย: ดร.วรรณสิริ สร้างเอี่ยม ผู้อำนวยการ โรงเรียนเมืองเก่ากำแพงแสน
จากข่าวโด่งดังในคดี ครูหญิงอายุ 41 ปี ปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรรักษาการณ์ที่โรงเรียนในวันหยุดราชการถูกชายอายุ 38 ปี เข้ามาทำร้ายร่างกาย และหวังล่วงละเมิดทางเพศ จนได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ในประเด็นนี้เกิดแง่คิดจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ตลอดจนฝ่ายอื่นๆ
แง่คิดหนึ่งจากภายนอกวงการศึกษา มีหลายเสียงตั้งคำถามมายังผู้เขียนว่า ทำไมครูจึงต้องอยู่เวรรักษาการณ์? ผู้เขียนจึงขอหยิบยกประเด็นนี้มาตอบในบทความนี้ โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะต่อต้านหรือขัดแย้งแต่ประการใด เพียงต้องการขยายความให้เกิดความกระจ่าง
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ขอกล่าวถึงนิยามของ “เวรรักษาการณ์” โดย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้นิยามไว้ซึ่งหมายถึง เวรเฝ้าดูแลเหตุการณ์ประจำสถานที่นั้นๆ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่ผู้บังคับบัญชากำหนด และให้กระทรวง ทบวง กรม สำนักงานหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ จัดให้มีเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการหรือหน่วยงานนอกเวลาราชการและในวันหยุดราชการตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อดูแลป้องกันความเสียหายอันจะบังเกิดแก่สถานที่ราชการ หรือหน่วยงานจากกรณีต่างๆ
จากนิยามดังกล่าว จึงมีผลทำให้คุณครูต้องมีภารกิจด้าน เวรรักษาการณ์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวทั้งกลางวันและกลางคืน
สำหรับเหตุการณ์ ครูหญิงอายุ 41 ปี ปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรรักษาการณ์และถูกทำร้ายร่างกาย จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ นำมาทบทวน กระทั่งอาจกล่าวได้ว่า กำลังจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ 2 ประการ คือ 1. วงการศึกษาเสนอแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความปลอดภัย และ 2. คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกการอยู่เวรของครูทั่วประเทศ โดยมีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567
ทั้งนี้ในข้อที่ 1 วงการศึกษาได้เสนอแนวปฏิบัติ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกหนังสือด่วนที่สุด ที่ศธ 04277/ว63 ลงวันที่ 22 มกราคม 2567 เรื่องการเฝ้าระวังและเตรียมรับมือกับเหตุความปลอดภัย อันอาจเกิดขึ้นจากบุคคลภายนอกเข้ามาก่อเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา โดยระบุให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตร่วมกับสถานศึกษา ดำเนินการ ดังนี้
- จัดทำกลไกการเฝ้าระวังบุคคลภายนอกเข้ามาก่อเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาที่มีความสอดคล้องกับนโยบายในระดับจังหวัด และระดับเขตพื้นที่การศึกษาโดยมีภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน (อปพร.) มูลนิธิ และองค์กรภาคเอกชนการกุศลที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย ในการหารือวางแนวทางป้องกันและประสานงานในเรื่องการทำแผนป้องกันเหตุ การสื่อสารประสานงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา
- ประเมินความเสี่ยงแบบบูรณาการร่วมกันทั้งในและนอกสถานศึกษา รวมถึงเวลาทำการและนอกเวลาทำการ
- ทบทวนแผนเผชิญเหตุและการป้องกันเหตุในระดับสถานศึกษา รวมถึงพิจารณาจัดทำห้องมั่นคง จัดทำกริ่งหรือสัญญาณพิเศษที่มีความแตกต่างจากสัญญาณทั่วไปที่ใช้ในสถานศึกษา ติดตั้งป้าย “ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต” การกำหนดตัวบุคคลการประสานงานขอความช่วยเหลือในกรณีเมื่อเกิดเหตุ ฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุในสถานศึกษา ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นักเรียน ครูและบุคลากรสามารถจัดการ และป้องกันเหตุได้อย่างทันต่อสถานการณ์
ในขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกการอยู่เวรของครูทั่วประเทศ โดยมีผลในทันที (23 มกราคม 2567) และมีมติระบุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมดูแลโรงเรียนช่วงที่ไม่มีครูหรือเจ้าหน้าที่ประจำการ
แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียนจำนวนมากในประเทศไทย ขอให้ทุกโรงเรียนดำเนินการโดยใช้แนวปฏิบัติ 3 ประการ ที่นำเสนอไว้ข้างต้นควบคู่กับไปด้วย