OPEN-TEC โดย TCC Technology Group ได้หยิบยกส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแชร์มุมมองเกี่ยวกับ แนวทางการรับมือกับ Digital Disruption ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ อีกทั้งยังได้กล่าวถึงการมาของ Super App ด้วย
2 กูรู แนะแนวทางรับมือกับ Digital Disruption
ในช่วงหลายปีมานี้ Digital Disruption เป็นคำที่หลายท่านคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งถือได้ว่าเป็นกระแสความตื่นตัวที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบตัวเราอย่างเห็นได้ชัด เพราะมันคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นถึงจุดที่สร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นได้ทั้งผลิตภัณฑ์ แพลตฟอร์ม หรือโมเดล โดยเกิดผลกระทบต่อมูลค่าของสินค้า บริการ หรือผลิตภัณฑ์เดิมที่มีในตลาด นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาและก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทั้งทางธุรกิจ สังคม และวัฒนธรรมเลยก็ว่าได้
คุณปฐม อินทโรดม กรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวไว้ว่า“เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างแน่นอน อยู่ที่เราว่าจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งผลกระทบย่อมมีอยู่เสมอ หน้าที่ของเรา คือ ต้องช่วยกันลดช่องว่างและปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลจริงจังมากขึ้น ซึ่งผมอยากเห็นคนไทยมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ แล้วเอาเทคโนโลยีมาต่อยอด อย่าหยุดเรียนรู้ แล้วเราจะอยู่รอดในอนาคต”
Digital Disruption เป็นปรากฏการณ์ที่ขับเคลื่อนโดยพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของผู้คนที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเทคโนโลยีที่มีความใหม่ ควรมีการนำไปใช้อย่างมีวิจารณญาณ และต้องมีการศึกษาค้นคว้า รวมถึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ถูก Disrupt การวางแผนกลยุทธ์ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะช่วยให้การบริหารจัดการเรียนรู้ในยุค Digital Disruption นั้นประสบความสำเร็จ ไปสู่เป้าประสงค์ที่วางไว้
จากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลให้ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ด้วยการเข้าถึงที่สะดวกสบายและรวดเร็ว แค่สมาร์ทโฟนเพียงหนึ่งเครื่องการจัดการกับกิจวัตรประจำวันจึงกลายเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งนับได้ว่าเป็นยุค Mobile First หรือยุคที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตเลยก็ว่าได้
หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งแรกที่ทำเมื่อตื่นนอนตอนเช้า คือการหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเพื่อเช็กข้อความจากช่องทางต่างๆ เสพข่าวบนโซเซียลมีเดีย ดูหนังฟังเพลง ชอปปิ้ง รวมไปถึงใช้ในการจองที่พักและเที่ยวบิน เป็นการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์อย่างมากมาย
นั่นคือมีการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลในการทำกิจวัตรประจำวันอย่างมหาศาล สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้องค์กรและธุรกิจต่างๆ ต้องเร่งปรับตัว เร่งพัฒนาศักยภาพให้สามารถก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภคที่มีการหมุนเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว จึงกล่าวได้ว่า “ไม่มี Sector ใดปลอดภัยจาก Disruption ได้เลย”
คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธานกรรมการกสิกร บิซิเนส กรุ๊ป (KTBG) อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และอดีตผู้ก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Settrade.com กล่าวว่า การมาถึงของ Digital Disruption นับว่าเป็น “วิกฤต” ที่ต้องเปลี่ยนให้เป็น “โอกาส” ซึ่งการถูก Disrupt นี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถรับมือและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างเต็มที่ได้ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือบางอย่างมาใช้ เพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด
ถึงแม้ว่าการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจนั้นๆ จะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา Digital Disruption ที่ตรงจุดและควรทำมากที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกิจจะสามารถทำได้เหมือนกันหมด บางองค์กรอาจต้องเผชิญเข้ากับปัญหาหรือข้อจำกัดบางอย่างเช่นในเรื่องค่าใช้จ่าย ความรู้ความเข้าใจที่ทำให้ไม่สามารถใช้งานนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีได้อย่างที่ควรจะเป็น
ดังนั้นเพื่อให้การปรับตัวเกิดความลื่นไหล สามารถทำงานต่อได้ แม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ธุรกิจจึงต้องไม่ลืมวางรากฐานเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรก่อนเป็นอันดับแรก
Super App หนึ่งในสิ่งที่ธุรกิจ “ฝัน” อยากจะเป็น
คุณปฐม มองว่า พฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟนที่กล่าวมานั้น นับวันยิ่งมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ล้วนต้องการความสะดวก ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น เข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายแค่เพียงปลายนิ้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้ภาคธุรกิจล้วนอยากมี Super App เป็นของตนเอง
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าหลากหลายธุรกิจเริ่มมีการเร่งเครื่องปรับตัวและพยายามพัฒนาแอปพลิเคชันของตนเอง ให้สามารถเป็นมากกว่าแอปที่ทำงานเพียงแค่วัตถุประสงค์เดียว แต่ต้องการเป็น “แอปอเนกประสงค์” ที่รวบรวมบริการหลายอย่างไว้ในแอปเดียวกัน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภคที่มีการหมุนเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วนี้
ในขณะที่ คุณสมคิด ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า“สิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ อยากเห็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่พัฒนาโดยคนไทย และสร้างชื่อให้เมืองไทย มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยจะต้องเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดที่มีบริการหลากหลาย สามารถ Scale up เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจได้ในอนาคต”
ดังนั้นดูเหมือนว่า Super App จะเป็นทางออกสำหรับหลายธุรกิจที่กำลังต้องการขยายตัว เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้อย่างเป็นวงกว้าง รวมถึงช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายกว่าในอดีต
แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Super App นั้นไม่ใช่ใครก็สามารถสร้างได้ และไม่ใช่อะไรที่สามารถทำได้ในเพียงไม่กี่วัน เพราะการพัฒนา Super App ให้ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายปัจจัยนอกเหนือจากองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความรับผิดชอบ แต่หมายรวมไปถึงความรวดเร็วในการคิด พัฒนา ทดลอง และต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์ตามคาดหวัง ซึ่งยังเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจต้องการและขาดหายในยุคที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็ว
สรุปได้ว่า Digital Disruption ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงแต่ต้องยอมรับ ปรับตัว และไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการศึกษาหาคำตอบให้เหมาะสมกับธุรกิจ จะนำไปสู่การวางรากฐานที่แข็งแกร่ง