(ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue: ACSDSD) C asean และ ThaiBev จัดกิจกรรม Sustainability Talks: Towards a Green ASEAN เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีการบรรยายพิเศษจากศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ แซคส์ ประธานเครือข่าย United Nations Sustainable Development Solutions Network (SDSN) และการสัมภาษณ์ศาสตราจารย์แซคส์ โดย ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สำนักข่าว THE STANDARD เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนา ‘อาเซียนสีเขียว’ ในอนาคต
ประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนถือเป็นประเด็นหลักที่ทุกฝ่ายย้ำความสำคัญในกิจกรรมดังกล่าว โดยในช่วงพิธีเปิดนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำความมุ่งมั่นของไทย ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการผลักดันความร่วมมือดังกล่าวในระดับภูมิภาค สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 ซึ่งสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ นายพลภัทร สุวรรณศร รองประธานกรรมการ C asean ได้กล่าวถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันอีกด้วย
ในช่วงการบรรยายพิเศษ ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน โดยเฉพาะในเวลาที่โลกกำลังประสบกับปีที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ยังกล่าวเสริมด้วยว่าภูมิภาคเอเชียถือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูง ทั้งในด้านความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ความสามารถในการผลิต และแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งล้วนแต่เป็นแต้มต่อให้กับภูมิภาคในการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ควรหันมาร่วมมือกันและสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือที่เอื้อต่อผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่าการแข่งขันกันในภูมิภาค โดยไทยอาจใช้ประโยชน์จากการร่วมมือกันระหว่างอาเซียน หรืออาจขยายวางกว้างสู่กลุ่มประเทศ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ด้วยก็ได้
ศาสตราจารย์แซคส์ยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการมีเป้าหมายที่ชัดเจนและการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยในด้านการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ศาสตราจารย์แซคส์เน้นย้ำถึง 6 ประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญและส่งเสริมการลงทุนต่อไป ได้แก่ ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การเกษตรอย่างยั่งยืน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในตัวเมือง และการพัฒนาทางดิจิทัล ซึ่งล้วนแต่จะช่วยพัฒนาคุณภาพบุคลากร ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคด้วย