จากมุมมองและประสบการณ์กูรูได้ถ่ายทอดถึง องค์ประกอบ และผลลัพธ์ที่จะนำทางสู่ความสำเร็จในการจัดทำ Digital Transformation พร้อมกับนำเสนอให้ภาครัฐมีบทบาทในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) เพื่อลดต้นทุนในการจัดระเบียบด้านข้อมูลดิจิทัล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดในภาคเอกชน
จากสาระความรู้ภายในงาน “Digital Transformation Summit” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมซีไอโอไทย (TCIOA) ซึ่ง OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP ในฐานะ Media Partner ได้นำองค์ความรู้จากผู้บรรยาย 3 ท่าน ภายใต้หัวข้อ “Technology trend for digital transformation” และหัวข้อ “What makes successful digital transformation?” มาสรุปไว้ในบทความนี้
แต่ละท่านได้ถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับเทรนด์และแนวทางการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในยุคปัจจุบัน ดังนี้
Digital Transformation กับองค์ประกอบ 4 ด้านหลัก
ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ รองผู้จัดการใหญ่ด้านปฏิบัติการและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮสดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึง องค์ประกอบหลักที่จะช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึง Digital Transformation ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ มี 4 ด้านหลัก ได้แก่
1. People: คนนับเป็นส่วนสำคัญอันดับต้นๆ ในการขับเคลื่อนยุค Digital Transformation ทุกองค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานให้ตรงตามความสามารถของแต่ละบุคคล
2. Process: ทุกองค์กรจำเป็นต้องศึกษากระบวนการต่างๆ ของเทคโนโลยีดิจิทัลให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม
3. Technology: ในแต่ละองค์กรจะมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญ
4. Data: ดำเนินการจัดสรรข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อนำมาปรับใช้กับองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
4 ผลลัพธ์ กับการทำ Digital Transformation
คุณฉัตรชัย สุทธภักติ Chief Technology officer บริษัท ไอคอน เฟรมเวิร์ค จำกัด ได้กล่าวถึงเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลในยุคปัจจุบันที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยมีชื่อเรียกว่า “Low-code technology” ซึ่งเป็น Cloud-based solution ที่ผู้ให้บริการสามารถสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาเองได้ โดยที่กลุ่มลูกค้าที่สนใจนั้นจะสามารถเลือกใช้งานในรูปแบบสมาชิกรายเดือนหรือรายปี (Subscription) ได้ตามความต้องการ
ข้อดีของเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าว จะช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินการ เพิ่มความรวดเร็ว อีกทั้งยังมีระบบ Artificial Intelligence (AI) ที่คอยตรวจจับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ส่งผลให้การทำงานสะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และ ความปลอดภัย (Security) ได้มีการนำ Cloud และระบบความปลอดภัยจากบริษัทระดับโลกเข้ามาใช้ ส่งผลให้เทคโนโลยีดิจิทัลนี้มีความปลอดภัยและมาตรฐานที่สูง
นอกจากนี้ คุณฉัตรชัย ยังได้กล่าวถึงผลลัพธ์ที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานหลายปีที่ผ่านมาในด้าน Digital Transformation ประกอบด้วย 4 แนวทางที่น่าสนใจ ดังนี้
1. To increase speed of business operation: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และสามารถลดจำนวนพนักงานในการดำเนินการ
2. To improve customer experience: การนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า
3. To provide data intelligence: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยรวบรวมข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อกระจายข่าวสารในองค์กรได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
4. To enable new business model: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จะช่วยเสริมฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งส่งผลต่อการขยายธุรกิจในอนาคต
ภารกิจภาครัฐกับบริบท Digital Infrastructure เพื่อการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าว ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน ยังได้แบ่งปันมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในภาคส่วนต่างๆ โดยถ่อยทอดว่า หากมองในภาครวมของประเทศ การก้าวเข้าสู่ Digital Transformation ภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) เพื่อจุดมุ่งหมายในการเชื่อมต่อข้อมูลดิจิทัลจากภาคส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งหากเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ก็จะช่วยสนับสนุนองค์กรให้สามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดและลดต้นทุนในการจัดระเบียบด้านข้อมูลดิจิทัล
พร้อมกันนี้ ดร.อนุชิต ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นมีนโยบายติดตั้งเครื่องจำหน่ายสินค้าตามสถานที่ต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม เป็นต้น เมื่อลูกค้าต้องการซื้อสินค้าก็จะสามารถสแกน QR code และเลือกชำระผ่านช่องทางธนาคารที่ลูกค้าสะดวกได้ทันที โดยที่ร้านสะดวกซื้อไม่จำเป็นต้องเข้าไปเจรจากับทุกธนาคารในการทำธุรกรรมการเงิน หากแต่เป็นการดำเนินการผ่านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) ที่ภาครัฐได้ทำการเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ผู้บรรยายได้ฝากแง่คิดที่คล้ายคลึงกันไว้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรและประเทศให้ก้าวหน้าได้อย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย