กลการหลอกลวงให้เชื่ออย่างมั่นใจ โดยไม่รู้ว่ามีปมซ้อนเร้นอยู่เบื้องหลัง และเมื่อมารวมกับ Information Disorder ข้อมูลที่บิดเบือนความจริง มันจะน่ากลัวแค่ไหน??
Source Hacking ถูกกล่าวถึงในบทความต่างประเทศเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยอาจจะยังเป็นคำใหม่ที่พูดถึงกันน้อย และก็มีคนสงสัยที่มาที่ไปต่างๆ นานา ในบทความจึงจะมาอธิบายว่า Source Hacking คืออะไร? และมันน่ากลัวอย่างไร?
ความหมายตรงตัวของ Source Hacking คือ การแฮกแหล่งที่มา เป็นการกระทำที่เกิดจากความตั้งใจของผู้ไม่หวังดีต้องการสร้างกระแสจากข่าวโดยการแฮกสื่อ ด้วยวิธีการป้อนข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงให้สื่อ เพื่อให้สื่อนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านช่องทางของตัวเอง โดยที่สื่อไม่รู้ว่าข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมานั้นไม่เป็นความจริง หรือเป็นข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่งเมื่อเผยแพร่ออกไปแล้วทำให้ประชาชนคนดูเชื่อสนิทใจ เพราะได้รับข่าวสารจากสื่อที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันในวงกว้าง
ปฏิบัติการ Source Hacking เล็งกลุ่มเป้าหมายไปที่สื่อที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักยอมรับในสังคม ทั้งสื่อทีวี สิ่งพิมพ์ ออนไลน์ และสื่อโซเชียล
ความน่ากลัวที่ซับซ้อน เมื่อ Source Hacking ปลุกกระแสพร้อมกับ Information Disorder
จะน่ากลัวแค่ไหน?? เมื่อ Source Hacking หรือสื่อถูกแฮก ถูกป้อนข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงให้หลงเชื่อ แล้วนำข้อมูลนั้นไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ อีกทั้งยังมีเรื่อง Information Disorder คือ ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนผิดเพี้ยนเผยแพร่ออกไปตามโซเชียลมีเดียต่างๆ
ถ้าลองคิดว่าถ้า Source Hacking ถูกปลุกระแสขึ้นมาพร้อมๆ กับ Information Disorder จะเป็นอย่างไร? โดยสื่อก็ออกมาเผยแพร่ข้อมูลเท็จโดยไม่รู้ตัว ทำให้คนในสังคมหรือในประเทศเชื่อเรื่องนั้นอย่างสนิทใจ แล้วยิ่งมาเจอโพสต์ต่างๆ ตามโซเชียลมีเดียที่ออกมาในทำนองเดียวกัน ก็เชื่อข้อมูลนั้นยิ่งขึ้นไปอีก จนเหมือนถูกล้างสมอง และแทบจะไม่มีวันตาสว่างได้เลยก็ว่าได้ (ถ้าไม่ฉุดคิดและไม่ไตร่ตรอง)
======

Information Disorder อ้างอิง Council of Europe Report DGI (2017)09
ภาพจาก https://pressbooks.pub/introtocollegeresearch/chapter/information-disorder-truth-trust/
Information Disorder คืออะไร?
Information Disorder คือ ความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร มีการแบ่งแยกไว้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. Misinformation = ข้อมูลผิด: เป็นข้อมูลที่ผิด ไม่ถูกต้อง ผู้ส่งได้ส่งออกไปโดยไม่รู้ว่าข้อมูลผิด และไม่ได้เจตนาในการกระทำนั้น แต่ด้วยความหวังดีว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้รับจึงส่งออกไป
2. Disinformation = ข้อมูลบิดเบือน: เป็นข้อมูลบิดเบือนความจริง ที่ผู้ส่งตั้งใจส่งออกไปโดยแสดงให้ผู้รับเห็นข้อมูลเพียงด้านเดียว ที่เรียกว่า Half-truth หรือความจริงครึ่งเดียว เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเชื่อในข้อมูลที่ผู้ส่งได้ส่งออกไป โดยมากผู้ส่งมักจะนำข้อมูลด้านลบมาตีแผ่เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม และจะไม่พูดถึงข้อมูลด้านดี หรือความจริงอีกด้านหนึ่งเลย
3. Malinformation = ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย: เป็นข้อมูลความจริงที่เป็นเรื่องส่วนตัวหรือความลับของบุคคลนั้นๆ ซึ่งผู้เผยแพร่มีเจตนาที่จะเอาความลับมาเปิดเผย ทำให้ผู้ที่ถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเกิดความอับอาย เสื่อมเสีย เสียชื่อเสียง เป็นพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรม และอาจเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นด้วย เช่น นำภาพเปลือยที่เป็นความลับของใครคนหนึ่งมาเปิดเผย
=======
วิเคราะห์เหตุการณ์สมมุติ
ขอสมมติเหตุการณ์ว่า วันหนึ่งสื่อทีวีช่องหนึ่งได้รับข้อมูลว่า ตำรวจยิงคนตาย คนนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วสื่อทีวีนั้นก็เผยแพร่ข่าวออกไปโดยไม่รู้ว่าเป็นข้อมูลที่บิดเบือน ข่าวที่ออกไปจากทีวีทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตำรวจยิงผู้บริสุทธิ์ตาย อีกทั้งยังมีการโหมข่าวในโซเชียลมีเดียว่า ตำรวจยิงผู้บริสุทธิ์ตาย มีการส่งต่อโพสต์นั้นกระจายออกไปจนเห็นเป็นล้านๆ คน คนก็ยิ่งมั่นใจว่าเป็นเรื่องจริง ยิ่งเห็นข่าวซ้ำๆ โพสต์ซ้ำๆ ที่ประโคมข่าวว่า ตำรวจยิงผู้บริสุทธิ์ตาย ก็ยิ่งเชื่อฝังใจ คิดและวิเคราะห์ไปถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เกิดความคิดว่า ตำรวจแย่ ตำรวจไม่ดี ตำรวจทำผิด สังคมเสื่อม ประชาชนไม่มีที่พึ่ง ฯลฯ
แต่ในความเป็นจริงคือ ข้อมูลที่ตำรวจยิงคนตายที่นำมาเผยแพร่มันคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และผู้ถูกยิงคือ นักโทษค้ายาแหกคุก มีอาวุธยิงใส่ตำรวจ เกิดการปะทะกัน แต่ผู้ไม่หวังดีที่สร้าง Source Hacking แฮกสื่อ เอาข้อมูลมาบอกว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน และยังบิดเบือนข้อมูลโดยบอกว่าคนถูกยิง แต่ไม่บอกว่าเป็นนักโทษค้ายาแหกคุก ยิงปะทะกับตำรวจ
เหตุการณ์สมมติดังกล่าว ถ้าไม่มีใครเอาความจริงที่สามารถอธิบายให้ชัดเจนได้ และมีหลักฐานที่ชัดเจน ก็จะทำให้คนทั่วไปเชื่อว่าตำรวจไม่ดี แต่ถ้ามีหลักฐานยืนยืนได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบเป็นอย่างไร จึงจะสามารถเอามาอธิบายหักล้างข้อมูลที่บิดเบือนนั้นได้
นี่คือความน่ากลัวของข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ ในปัจจุบัน… บางเรื่องเราอาจกำลังถูกปั่นหัวก็ได้ ดังนั้นก่อนที่จะเชื่อในสิ่งที่เห็นหรือเชื่อในสิ่งที่เสพ ควรจะต้องไตร่ตรองและหาข้อมูลก่อนที่จะเชื่อ และอาจจะยังต้องชั่งใจก่อนด้วยว่า “จะเชื่อได้ 100% หรือไม่?”