Home » ทรูบิสิเนส ร่วมกับ อินเทล ดึง AI ทรานสฟอร์มบริการทางการแพทย์

ทรูบิสิเนส ร่วมกับ อินเทล ดึง AI ทรานสฟอร์มบริการทางการแพทย์

โดย Reporter 1
55 views

ทรูบิสิเนส ผู้นำบริการสื่อสารและดิจิทัลโซลูชันครบวงจรสำหรับลูกค้าธุรกิจ ร่วมกับ อินเทล ผู้นำด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ทรานสฟอร์มอุตสาหกรรมสาธารณสุขไทยสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ดึงพลังเครือข่ายทรู 5G ผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำของอินเทล เปิดตัว 7 โซลูชันด้านการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Healthcare)

ครอบคลุมทั้งการวินิจฉัยและรักษาฟื้นฟูดูแล และการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลในประเทศไทย พลิกโฉมบริการสาธารณสุขไทยยุคใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและความคุ้มค่า ทั้งยังส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก้าวสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย

ความร่วมมือในครั้งนี้ นำไปสู่การพัฒนาโซลูชันด้านสุขภาพที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการประมวลผลบนอุปกรณ์ปลายทางผ่านโซลูชันซอฟต์แวร์ของอินเทล เช่น OpenVino ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาทั้งในการวินิจฉัยและการรักษา อาทิ โซลูชันสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยและความปลอดภัยด้วยอุปกรณ์ไร้การสัมผัส (Digital Patient Twin – Patient-Management-as-a-Service) ที่เพิ่มขีดความสามารถให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลและเฝ้าระวังผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย

โดยใช้เทคโนโลยี 5G และการประมวลผลบนอุปกรณ์ปลายทางอันทรงพลังด้วย Intel Edge AI บน Intel Core Ultra  ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในการผลักดันของ Intel เพื่อการนำ AI ไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านหลากหลายผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มของอินเทลที่ออกแบบมาเพื่อการนำ AI ไปใช้ด้วยความปลอดภัยและยั่งยืน ตลอดจนสามารถขยายขอบเขตและทำงานร่วมกันได้ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน

โซลูชันด้านการดูแลสุขภาพอัจฉริยะเหล่านี้ ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพบนเครือข่ายทรู 5G ที่รองรับการรับ-ส่งข้อมูล ควบคุมและสั่งการได้แบบเรียลไทม์ จึงเอื้อต่อการพัฒนาระบบอัตโนมัติต่างๆ  ในการดูแลผู้ป่วย ช่วยลดต้นทุนทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์และขั้นตอนการรักษา รวมถึงแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ 

ยิ่งไปกว่านั้น โซลูชัน Smart Healthcare ยังมีการบันทึกข้อมูลการรักษาในระบบดิจิทัล เพื่อให้ AI นำไปวิเคราะห์เชิงลึก และทำงานร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงการรักษาอาการที่ซับซ้อนและเฉียบพลันมีประสิทธิภาพมากขึ้นและได้ผลลัพธ์ดีขึ้น

คุณพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลุ่มธุรกิจองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูบิสิเนส เร่งพัฒนานวัตกรรมบริการ ควบคู่กับการนำ AI มาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กร โดยการร่วมมือกับผู้นำระดับโลกอย่าง อินเทล ในครั้งนี้ เรามุ่งพัฒนาโซลูชันที่จับต้องได้และใช้งานได้จริง เพื่อสนับสนุนองค์กรธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เติมเต็มวิสัยทัศน์ของทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้นำโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ที่จะเป็นมากกว่าผู้ให้บริการเครือข่าย

ความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเน้นการผสมผสานและขับเคลื่อนการทำงานของโซลูชันอัจฉริยะด้านการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งการวินิจฉัยรักษา การฟื้นฟูดูแล และการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุขของไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ให้สามารถส่งมอบบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ แม่นยำ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันผู้ป่วยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนได้รับประสบการณ์และผลลัพธ์ในการรักษาที่ดียิ่งขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้นแบบยั่งยืนของคนไทย นอกจากนี้ ทรูบิสิเนส และ อินเทล ยังมุ่งส่งเสริมการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และเพิ่มประสิทธิผลของบริการด้านการดูแลสุขภาพบนพื้นฐานของการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม ปลอดภัย และโปร่งใส

โซลูชันอัจฉริยะด้านการวินิจฉัยและรักษา

Telemedicine and Tele ICU บริการการแพทย์ทางไกลผ่านเครือข่ายทรู 5G ที่เชื่อมโยงชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ติดตั้งในท้องถิ่นต่างๆ กับระบบหลักของโรงพยาบาล โดยมีแพลตฟอร์มจัดเก็บข้อมูลและประวัติของผู้ป่วย บันทึกทุกการดำเนินการทางการแพทย์

เช่น การวินิจฉัยและรักษา การนัดพบแพทย์ การผ่าตัด พร้อมแสดงข้อมูลผ่านแดชบอร์ดเพื่อให้แพทย์สามารถให้คำปรึกษาและรักษาผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์จากระยะไกล ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ดูแลสุขภาพได้อย่างต่อเนื่อง ลดความจำเป็นในการเดินทางไปโรงพยาบาล

Future of Large Language Model (LLM) แพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบประวัติผู้ป่วยและวิเคราะห์อาการเบื้องต้น โดยผู้ป่วยสามารถกรอกข้อมูลส่วนบุคคลและอาการเจ็บป่วย ระบบ AI จะช่วยวิเคราะห์อาการร่วมกับข้อมูลทางการแพทย์ที่ทันสมัยล่าสุด

พร้อมให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสาเหตุและแนวทางการรักษาโรคหรือปัญหาสุขภาพ รวมถึงขั้นตอนถัดไปในการรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วมากขึ้น ลดขั้นตอนและเวลาในการพบแพทย์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

Pathology as a Service แพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีสแกนชิ้นเนื้อเพื่อแปลงภาพพยาธิวิทยาเป็นดิจิทัล ซึ่ง AI สามารถวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้กระบวนการทดสอบตัวอย่างชิ้นเนื้อและเลือดมีความรวดเร็วมากขึ้น จึงช่วยให้นักพยาธิวิทยาทำงานได้เร็วขึ้น เพิ่มทั้งประสิทธิภาพและความแม่นยำในการวินิจฉัย การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกจึงทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที

เช่น การพยาธิวิทยาดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถตรวจพบมะเร็งได้ภายในไม่กี่นาที ซึ่งกระบวนการแบบดั้งเดิมอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ โดยเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์และระบบเครือข่ายที่ปลอดภัยของทรู คอร์ปอเรชั่น ช่วยให้สถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไทยสามารถนำบริการพยาธิวิทยา (Pathology-as-a-Service) ในระบบดิจิทัลไปใช้ได้อย่างราบรื่น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการวินิจฉัย ขณะเดียวกันยังช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อการตรวจพบโรค

Ophthalmology as a Service แพลตฟอร์มที่ให้บริการสำหรับการวิเคราะห์และคัดกรองจักษุวิทยา เช่น จอประสาทตาเสื่อมจากอายุและเบาหวาน โดยใช้กล้องเรตินาที่ขับเคลื่อนด้วย AI และคอมพิวเตอร์วินิจฉัยแบบอัตโนมัติ ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีในกระบวนการตรวจวิเคราะห์อย่างแม่นยำ โดยไม่ต้องใช้ยาหยอดขยายม่านตาที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตา โดยชุดผลิตภัณฑ์ที่รองรับ AI ของอินเทล ช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจพบโรค เช่น เบาหวานขึ้นตา ความหนาแน่นของกระดูกในโรคกระดูกพรุน และพยาธิวิทยาสำหรับมะเร็งเต้านมและมะเร็งไต

โซลูชันอัจฉริยะด้านการฟื้นฟูดูแล

Digital Patient Twin (Patient Management as a Service – PMaaS) – โซลูชันสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยและความปลอดภัยด้วยอุปกรณ์ไร้การสัมผัส โดยข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิร่างกาย  อัตราการเต้นของหัวใจ  อัตราการหายใจ  คุณภาพการนอนหลับ  และตำแหน่งของผู้ป่วยบนเตียง จะถูกส่งไปยังอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ถูกติดตั้งอยู่บนเพดานห้องพักระดับเหนือเตียงผู้ป่วย

พร้อมเชื่อมโยงไปยังศูนย์กลางเพื่อรวบรวมและแจ้งเตือนเมื่อพบความผิดปกติ จึงช่วยให้สามารถดูแลและเฝ้าระวังผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องรบกวนการพักผ่อนของผู้ป่วยในการตรวจวัดค่าต่างๆ เป็นประจำ

Residential Care Management แพลตฟอร์มสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ด้วยอุปกรณ์ Edge IoT และเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งบนรถเข็น โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ต บันทึกข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ส่งผ่านเครือข่ายทรู 5G แบบเรียลไทม์ เพื่อรวบรวมบนแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและความเสี่ยงด้านสุขภาพ เชื่อมโยงกับระบบของโรงพยาบาล และสามารถแจ้งเตือนทันทีเมื่อพบความเสี่ยงหรือสิ่งผิดปกติ

โซลูชันอัจฉริยะด้านการจัดการข้อมูลทางการแพทย์

Transforming of PACS (Picture Archiving and Communication System) โซลูชันที่จะพลิกโฉมระบบจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ (Medical Images) หรือภาพถ่ายทางรังสี ผ่านแพลตฟอร์ม AI และประยุกต์ใช้ AI ได้ทุกที่ แม้ในพื้นที่ห่างไกล โดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มระบบคลาวด์ได้ทุกรูปแบบ ลดข้อจำกัดและความยุ่งยากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ซับซ้อน


พิสูจน์ผลลัพธ์ กับ 2 กรณีตัวอย่างจากการใช้งานจริง*

การวิเคราะห์เนื้อเยื่อเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้เร็วขึ้นกว่าแบบดั้งเดิมถึง 2,000 เท่า

โดยเฉลี่ยนักพยาธิวิทยามักใช้เวลาในการวิเคราะห์เนื้อเยื่อเพื่อตรวจหาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง นานถึง 2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้นหากโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค

โซลูชัน Pathology as a Service นำแพลตฟอร์ม AI มาช่วยสำหรับวิเคราะห์ภาพถ่ายพยาธิวิทยาช่วยประหยัดเวลาในการวิเคราะห์ โดยใช้เวลาเพียง 5 นาทีและเพิ่มความแม่นยำในการศึกษาวิจัย โดยนักพยาธิวิทยาสามารถแบ่งปันภาพพยาธิวิทยากับทีมงานทั่วโลกที่ทำงานจากระยะไกลในการวิเคราะห์สไลด์แบบดิจิทัล เอื้อต่อการร่วมวิเคราะห์และปรึกษาแนวทางการรักษาผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์

จึงช่วยแก้ไขปัญหาความขาดแคลนของนักพยาธิวิทยาทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญ Pathology as a Serviceยังเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนายาใหม่และความก้าวหน้าด้านพยาธิวิทยาอีกด้วย

การดูแลผู้ป่วยหรือผู้พักฟื้นด้วยอุปกรณ์ไร้การสัมผัส เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยสูงขึ้น 30%

ยกระดับประสบการณ์การพักฟื้นของผู้ป่วยจากการได้รับการดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องถูกรบกวนในช่วงเวลาการพักฟื้น และไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายๆอุปกรณ์ที่สัมผัสกับร่างกายเพื่อติดตามค่าต่างๆ จึงสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างสะดวกสบาย

ขณะเดียวกัน แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยผ่านโซลูชัน Digital Patient Twin โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดค่าต่างๆ ของร่างกายและตรวจจับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่นอนพักฟื้นบนเตียง ด้วยการดำเนินการทางคลินิกจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ส่งสัญญาณไลฟ์สตรีมและประมวลผลด้วยระบบอัจฉริยะ AI

พร้อมแจ้งเตือนเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยบนเตียง นำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที จึงช่วยแบ่งเบาภาระ ลดขั้นตอน และปริมาณการดำเนินงานในคลินิกหรือหอพักผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรการแพทย์  โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ 1 คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากถึง 10 คน จากเดิมที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่พยาบาลเฉลี่ย 3 คน ในการดูแลผู้ป่วย 10 คน

*อ้างอิงข้อมูลจาก International Medical University มาเลเซีย และ Tri-Service General Hospital ไต้หวัน

#TrueBusiness #ทรูบิสิเนส #intel #Aisolutions #5Gnetwork #Healthcaretransformation

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

N/A

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด