บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์
นับตั้งแต่ที่คำว่า ESG ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2004 เพื่อสนับสนุนแนวคิดของการบูรณาการปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในตลาดทุน ซึ่งเชื่อกันว่า ไม่เพียงนำไปสู่ผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตัวตลาดทุนเอง ด้วยการทำให้ตลาดทุนมีความยั่งยืนมากขึ้น
เนื่องจาก ESG ถูกริเริ่มขึ้นจากภาคตลาดทุน หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินงาน ESG ของกิจการ จะต้องมีความเชื่อมโยงกับผลประกอบการ และสะท้อนอยู่ในผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ
จากมุมมองเดิมต่อเรื่อง ESG ที่กิจการส่วนใหญ่ เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยง มาสู่การใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจสำหรับรองรับโอกาสที่เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่หลายกิจการเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทั้งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และความสามารถในการทำกำไร (Profitability) จากการใช้ประโยชน์ในประเด็นด้าน ESG ที่สอดคล้องกับบริบทของกิจการ
สำหรับกลยุทธ์ ESG ในปี ค.ศ. 2024 ที่สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประมวลเพื่อให้กิจการใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย
Chance: หาโอกาสในมิติเศรษฐกิจ จากความอ่อนไหวด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศต่างขั้วมีแนวโน้มที่จะขยายวง ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยจากแรงกดดันของปัจจัยเงินเฟ้อในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในทุกภูมิภาคมีการเติบโตที่หดตัวลง และทำให้ต้นทุนทางการเงินในการประกอบธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น การปรับตัวและเตรียมความพร้อมในปี ค.ศ. 2024 กิจการควรค้นหาโอกาสทางธุรกิจจากปัจจัย ESG ที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการทำกำไร นอกเหนือจากการมอง ESG ว่าเป็นเรื่องของการจัดการความเสี่ยงหรือผลกระทบด้านเดียว
ตัวอย่างของการพลิกทุนทางธรรมชาติให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ ด้วยการอนุรักษ์ระบบนิเวศพร้อมกับการลงทุนทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดโอกาสในการสร้างกำไรและการจ้างงาน เช่น การเกษตรแบบเจริญทดแทน (Regenerative Agriculture) เป็นการดำเนินธุรกิจการเกษตรที่เน้นการคืนสภาพของหน้าดิน การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับปรุงวัฏจักรของน้ำ การเพิ่มพูนบริการจากระบบนิเวศ การสนับสนุนการกักเก็บคาร์บอนด้วยวิธีการทางชีวภาพ การเพิ่มภาวะพร้อมผันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การขนส่ง การจัดจำหน่าย การบริโภค ไปจนถึงกระบวนการกำจัดของเสีย
Choice: สร้างทางเลือกในมิติสังคม เรื่องความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่ปิดกั้น เป็นประเด็น ESG ด้านสังคมในอันดับต้นๆ ที่หลายฝ่ายได้ให้น้ำหนักความสำคัญ ทั้งการบรรจุไว้เป็นนโยบายของกิจการ และการใช้เป็นมาตรการในการรับสมัครคัดเลือกบุคลากร ขณะที่หลายกิจการ ไม่เพียงแต่ดำเนินการในองค์กรของตน แต่ยังขยายครอบคลุมไปถึงผู้ส่งมอบในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยมาตรการจัดหาวัตถุดิบหรือวัสดุใช้สอยจากคนในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งในฝั่งอุปสงค์ซึ่งเป็นส่วนตลาดที่ยังมิได้รับการตอบสนอง (Unserved) หรือที่ยังตอบสนองได้ไม่เต็มที่ (Underserved) เพื่อให้เกิดทางเลือกแก่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ การปรับตัวและเตรียมความพร้อมในปี ค.ศ. 2024 กิจการควรสร้างทางเลือกด้านบุคลากร โดยนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนมาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติด้านแรงงาน และเชื่อมโยงให้เกิดเป็นคุณค่าต่อผู้บริโภคจากการดำเนินการดังกล่าว
ตัวอย่างการสร้างทางเลือกในตัวกิจการ ได้แก่ เช่น การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ การจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ (ทั้งสองกรณี สามารถยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด) ตัวอย่างการสร้างทางเลือกในฝั่งอุปทาน เช่น การจัดซื้อวัสดุใช้สอยในธุรกิจ เพื่อสนับสนุนสินค้าและบริการที่ชุมชนผลิตและจำหน่าย อาทิ ของว่างสำหรับการประชุมหรือเลี้ยงรับรองแขก ข้าวสารหรืออาหารที่จัดหาเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน บริการต้นไม้ให้เช่าสำหรับวางประดับในอาคารและพื้นที่สำนักงาน งานตัดเย็บเครื่องแบบพนักงาน ฯลฯ ตัวอย่างการสร้างทางเลือกในฝั่งอุปสงค์ เช่น การพัฒนาสินค้าเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการจำหน่ายแก่ผู้มีรายได้น้อย การออกแบบบริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุที่ช่วยลดการเดินทางและเวลาไปโรงพยาบาล ฯลฯ
Change: เปลี่ยนแปลงในมิติสิ่งแวดล้อม เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ การใช้ประโยชน์และผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และประเด็นมลภาวะที่เกิดจากการประกอบการ เป็นประเด็น ESG ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทุกๆ กิจการจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งในแง่ของการบรรเทา (Mitigation) การปรับตัว (Adaptation) รวมทั้งการเยียวยาชดเชยความสูญเสียและความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับผลกระทบที่เกิดจากการประกอบการขององค์กร การปรับตัวและเตรียมความพร้อมในปี ค.ศ. 2024 กิจการจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด โดยการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน การลดปริมาณการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติหรือใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การนำของเสียมาแปรสภาพใช้ใหม่ (Recycle) หรือใช้ผลิตใหม่ (Remanufacture) หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นต้น
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการพลังงาน ได้แก่ การลดการใช้พลังงานที่มาจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ การติดโซลาร์เซลล์ หรือการเปลี่ยนพาหนะขนส่งเป็นรถ EV
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการวัตถุดิบ ได้แก่ การนำแนวคิด Carbon Negative หรือการทำให้กระบวนการผลิตมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบมาใช้ในธุรกิจ อาทิ บริษัทอินเตอร์เฟซ ผู้นำระดับโลกด้านการออกแบบ ผลิต และจำหน่ายพรมแผ่น มีการปรับสายการผลิตแผ่นรองพรมที่สามารถกักเก็บคาร์บอนจนทำให้ได้พรมแผ่นชนิดแรกในโลกที่เป็น Carbon Negative เมื่อวัดค่าการปลดปล่อยในขอบเขต Cradle-to-Gate
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการของเสีย ได้แก่ การนำกากของเสียที่ออกจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของทรัพยากรใหม่หรือแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน (Waste of Energy) อาทิ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม มีการใช้ประโยชน์จากทะลายเปล่าและเส้นใยปาล์มเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน และเหลือขายเป็นพลังงานไฟฟ้าให้แก่ภายนอก
เส้นทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้วยกลยุทธ์ Chance + Choice + Change ในบริบทของ ESG ข้างต้น จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถวางแนวทางการขับเคลื่อนที่สอดรับกับสถานการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปี ค.ศ. 2024 และเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า