Home » การเลือกตั้งในอเมริกา(ตอน1) กว่าจะได้ ประธานาธิบดี 

การเลือกตั้งในอเมริกา(ตอน1) กว่าจะได้ ประธานาธิบดี 

โดย 2 Cents
198 views

คอลัมน์ เรื่องเล่าจากต่างแดน โดย 2 Cents

ปีนี้เป็นปีเลือกตั้งประธานาธิบดี (ปธน.) อเมริกา ที่หลายคนอาจจะได้เห็นข่าวมาบ้าง เลยอยากเล่าเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่นี่ให้อ่าน เผื่อใครสนใจนะคะ

เราเคยบอกในบทความก่อนหน้านี้ไปแล้ว ว่าการเลือกตั้ง ปธน. อเมริกาเป็นอะไรที่สับสน งุนงง มีรายละเอียดยิบย่อยมาก คนอเมริกันบางคนก็ยังไม่เข้าใจจริงๆ เลย (อ่านได้ที่นี่นะคะ https://www.the-perspective.co/เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ/)

ก่อนอื่นขอให้ข้อมูลก่อนนะคะ

1. คนอเมริกันทุกคนมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง แต่คุณต้องลงทะเบียนเลือกตั้งคุณถึงจะลงคะแนนได้ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะเดินไปที่คูหาขอลงคะแนนแบบนั้นไม่ได้ค่ะ กฎเกณฑ์การลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้งของแต่ละรัฐจะแตกต่างกันไป บางรัฐก็ให้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้ คือถ้าคุณไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าก็ไปลงทะเบียนที่คูหาแล้วลงคะแนนเลย แต่ส่วนมากจะไม่ให้ จาก 50 รัฐ และ Washington D.C. มีแค่ 23 รัฐที่ให้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้

นั่นคือ ถ้าคุณไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า คุณจะลงคะแนนไม่ได้

และการลงทะเบียนไม่ใช่แค่ครั้งเดียวตลอดชีวิต ถ้าคุณย้ายที่อยู่ไปรัฐอื่นคุณต้องลงทะเบียนใหม่ และถึงคุณจะไม่เคยย้ายที่อยู่แต่คุณไม่ได้ลงคะแนนเป็นเวลานาน เขาอาจจะเอาชื่อคุณออกได้ เขาจึงแนะนำว่าถ้าคุณไม่ได้ลงคะแนนเป็นเวลานาน ให้เช็กล่วงหน้าว่าคุณยังลงทะเบียนอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ก็ลงทะเบียนใหม่ก่อนการเลือกตั้ง

2. อเมริกามีประชากรประมาณ 340 ล้านคน เขามีพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่คือ พรรคเดโมแครต (Democrat บางทีเขาจะเรียกว่า left-wing หรือ liberal) และ พรรครีพับลิกัน (Republican หรือ right-wing, conservative) พรรคอื่นนอกจากสองพรรคนี้มีบทบาทน้อยมาก ต่างจากบ้านเราที่มีประชากรประมาณ 70 ล้านคน แต่มีพรรคการเมืองไม่รู้กี่สิบพรรค

3. อเมริกามีการเลือกตั้งทุกปีนะคะ วันเลือกตั้งจะเป็นวันอังคารเท่านั้น ส่วนเวลาลงคะแนนแต่ละรัฐจะแตกต่างกันไป

โดยวันเลือกตั้งระดับประเทศ ที่ไม่ใช่ Primary Election (ที่เราเคยเขียนอธิบายไปแล้วในบทความที่แล้วเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา (ลิงก์อยู่พารากราฟที่สองค่ะ) จะมีพร้อมกันทั่วประเทศ และเป็นวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤจิกายน นั่นคือวันจันทร์ต้องเป็นเดือนพฤจิกายนด้วย ถ้าวันอังคารคือวันที่ 1 พฤศจิกายน ก็จะไม่ใช่วันเลือกตั้ง แต่วันเลือกตั้งจะเป็นวันอังคารถัดไปคือวันที่ 8 พฤจิกายน ดังนั้นวันแรกของเดือนพฤศจิกายน ที่จะเป็นวันเลือกตั้งได้คือวันที่ 2

ที่เขามีการเลือกตั้งทุกปีเป็นเพราะที่นี่มีรัฐบาลหลายระดับ คือระดับประเทศ (Federal Government) ระดับรัฐ (State Government) และระดับท้องถิ่น (Local Government) ระดับท้องถิ่นก็มีอีกหลายระดับ ตั้งแต่ County ไป Town ไป Village และทุกระดับจะมีการเลือกตั้ง

และไม่ใช่เฉพาะนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐหลายตำแหน่งก็มาจากการเลือกตั้ง เช่น ผู้พิพากษา, Sheriff หรือ District Attorney (น่าจะแปลประมาณว่า อัยการเขต) ก็มาจากการเลือกตั้ง

โดยวาระของแต่ละตำแหน่งนั้นจะแตกต่างกันไป ก็เลยมีการเลือกตั้งทุกปี เพราะจะมีตำแหน่งที่ว่างต้องมีการลงคะแนนเลือกคนใหม่เข้ามาทุกปี

====

การเลือกตั้งหลักๆ ของแต่ละรัฐบาลก็คือ

รัฐบาลกลาง Federal Government จะมีเลือกตั้งคือ

1. ประธานาธิบดี (President หรือ ปธน.) เทอมหนึ่งคือ 4 ปี
นั่นคือ 4 ปี เลือก ปธน. กันครั้งหนึ่ง แต่ละคนจะอยู่ได้สองเทอม คือ 8 ปี เท่านั้น
ปธน. ถือเป็นตัวแทนคนทั้งประเทศ แต่เอาจริงๆ ก็เหมือนเป็นตัวแทนคนรัฐเล็กๆ ซะมากกว่า เพราะการเลือกเป็นระบบ Electoral College ที่คำนวณจากจำนวน สส. สว. ไม่ใช่การโหวตแบบใครได้เสียงมากชนะ แบบเลือกตั้งทั่วไป แต่มันคือการเลือก Elector ไปเลือก ปธน. ตอนปลายธันวาคมอีกที รายละเอียดเราจะมาอธิบายในตอนหน้านะคะ

2. วุฒิสมาชิก (U.S. Senator หรือ สว.) มี 100 คน รัฐละสองคน เทอมหนึ่งคือ 6 ปี
คือเลือกตั้งครั้งหนึ่ง สว. จะมีวาระ 6 ปี ไม่มีเทอมลิมิตลงได้ตลอดเป็น สว. กี่สิบปีก็ได้ การเลือกเป็นแบบใครได้เสียงข้างมากก็ชนะเหมือนปกติ

สว. ถือเป็นตัวแทนของรัฐ ไม่ขึ้นกับจำนวนประชากร รัฐหนึ่งมี สว. ได้ 2 คน ไม่ว่าจะมีประชากรเกือบ 40 ล้านคนแบบ California หรือ ไม่ถึง 6 แสนคน อย่าง Wyoming (และนี่คือที่มาของความไม่เท่าเทียมกันของหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงในระบบ Electoral Voting)

อเมริกามี 50 รัฐ ไม่นับ District of Columbia (D.C.) นะคะ (D.C.) ไม่ถือเป็นรัฐจึงไม่มี สว. ก็จะมี สว. ในสภาทั้งหมด 100 คน

ด้วยเหตุนี้ Washington D.C. เขาถึงมีสโลแกนว่า “TAXATION WITHOUT REPRESENTATION” ที่แปลประมาณว่า เสียภาษีแต่ไม่มีผู้แทน ต่อมาเขาเปลี่ยนเป็น “END TAXATION WITHOUT REPRESENTATION” แปลประมาณว่า เลิกเก็บภาษีโดยไม่มีผู้แทน สโลแกนนี้เขียนอยู่บนป้ายทะเบียนรถของรัฐ

(จากรูป: ป้ายทะเบียนรถของ Washington D.C. จะมีสโลแกนอยู่ด้านล่าง ทุกรัฐจะมีสโลแกนของเขา ซ้ายมือคือบนป้ายทั่วไป ขวามือบนคือป้ายของทหารผ่านศึก รูปจาก Google)

แต่เวลาเลือกตั้งไม่ใช่เลือกพร้อมกันหมด 100 คน เขาจะมี สว. สามชุด ชุดละประมาณ 1 ใน 3 คือ 30 กว่าคน ที่มีวาระต่างกัน คือทุก 2 ปี ประมาณ 1 ใน 3 ของ สว. หมดวาระและต้องเลือกตั้งใหม่ อย่างปีนี้มี สว. ที่ครบวาระและต้องเลือกใหม่ 33 คน สว. ระดับประเทศ เขาจะเรียกว่า U.S. Senate

แต่ละรัฐคนที่เป็น สว. มานานกว่าจะเรียกว่า Senior Senator อีกคนจะเรียกว่า Junior Senator (ดังนั้นอย่าพูดว่าประเทศประชาธิปไตย ดินแดนแห่งเสรีภาพเขาไม่มียศถาบรรดาศักดิ์นะคะ)

เนื่องจากจำนวนวุฒิสมาชิกเป็นเลขคู่คือ มี 100 คน จึงมีโอกาสที่การลงคะแนนเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยในการโหวตใดๆ เสมอกันคือ 50:50 ใน กรณีแบบนี้รอง ปธน. จะเป็น tie-breaker คือ จะเป็นคนโหวตเป็นเสียงที่ 101 (เรียกว่า tie-breaking votes) เพื่อจะตัดสินการเสมอ รอง ปธน. โหวตให้ทางไหนทางนั้นก็ชนะ

3. สส. (Congressman) มี 435 คน วาระหนึ่งคือ 2 ปี

สส. จะครบเทอมพร้อมกันหมดไม่มีแยกชุดแบบ สว. นั่นคือทุก 2 ปี จะเลือก สส. ใหม่หมด

สส. ไม่มีเทอมลิมิต ใครจะลงกี่ครั้งเป็น สส. กี่สิบปีก็ได้ การเลือกเป็นแบบใครได้เสียงข้างมากก็ชนะเหมือนปกติ

สส. ถือเป็นตัวแทนคนในเขตเลือกตั้ง โดย สส. จะขึ้นกับจำนวนประชากร แต่มีได้ทั้งหมด 435 คน

ดังนั้น จะจำนวนประชากรเท่าไหร่ก็ใช้จำนวนประชากรทั้งหมดที่มีแล้วเอา 435 หาร แต่ไม่ว่ารัฐจะเล็กแค่ไหน ก็จะมี สส. ได้ 1 คน

คือถึงรัฐจะมีประชากรไม่พอที่จะมี สส. ได้เลย ก็จะมีได้ 1 คน ส่วนรัฐที่เหลือก็เอาประชากรที่เหลือหาร ด้วยจำนวน สส. ที่เหลือ ได้ออกมาเป็นจำนวนประชากรต่อ สส. หนึ่งคนโดยคร่าวๆ

จำนวนประชากรที่ใช้ในการคำนวณจำนวน สส. นี้ เขาใช้จำนวนประชากรตอนทำสำรวจสำมะโนประชากร หรือ Census ที่ทำขึ้นทุก 10 ปี ในการคำนวณ เมื่อทำ census แต่ละครั้ง เขาก็จะเอาจำนวนประชากรนั้นมาคำนวณว่าแต่ละรัฐมี สส. ได้กี่คน ถ้ารัฐไหน มีประชากรเพิ่มจากเมื่อสิบปีที่แล้วมากพอ รัฐนั้นก็จะได้มี สส. เพิ่มขึ้น

ในทางตรงกันข้ามรัฐไหนที่มีประชากรลดลงจาก Census คราวที่แล้วมากพอ รัฐนั้นก็จะมี สส. ลดลง และก็อาจจะมีการแบ่งเขตเลือกตั้งในรัฐใหม่ด้วย

ดังนั้นการทำ Census จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก

=====

ระดับรัฐบาลรัฐ จะมีการเลือกตั้งหลักๆ คือ

1 ผู้ว่าการรัฐ หรือ Governor

2 วุฒิสมาชิกของรัฐ หรือ State Senator

3 สส. ของรัฐ หรือ Assemblyman ทุกรัฐในอเมริกามีรัฐบาลและกฎหมายของเขาเอง เทอมการอยู่ในตำแหน่งและเทอมลิมิต จะขึ้นกับแต่ละรัฐ

=====

ระดับรัฐบาลท้องถิ่น อันนี้การเลือกตั้งจะเยอะมาก

ทั้งระดับ County, City, Town

มีตั้งแต่ Legislative, ผู้พิพากษา ฯลฯ

ที่เลือกตั้งทุกปีก็เพราะระดับท้องถิ่นนี่แหละค่ะ

ระดับรัฐกับระดับประเทศ จะมีเลือกตั้งใหญ่กันทุก 2 ปี

ทุก 4 ปี จะเป็นการเลือกตั้งหลัก คือ เลือก ปธน.

ทุก 2 ปี จะเลือกตั้งย่อย คือ เลือก สส. ทั้งหมด. กับ 1 ใน 3 ของ สว. เขาจะเรียกการเลือกตั้งย่อยนี้ว่า Midterm Election

=====

สรุปการเลือกตั้งของที่นี่ (อเมริกา) คือ

1. ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายนแต่ละรัฐจะมีการเลือกตั้งเบื้องต้น (Primary Election) ที่มีวันเลือกตั้งที่แตกต่างกันออกไปไม่พร้อมกัน แต่จะเป็นวันอังคารเสมอ และวันที่มีการเลือกตั้งเบื้องต้นมากรัฐที่สุดของปีจะเรียกว่า Super Tuesday คนที่ได้เสียงเยอะที่สุดจะได้เป็นตัวแทนพรรคในการลงชิงตำแหน่ง สส. สว. อะไรต่างๆ ยกเว้น ปธน. ที่ผลของ Primary Election คือจำนวน Delegates ที่ได้

2. เฉพาะปีที่เลือก ปธน. (ทุก 4 ปี) ช่วง กรกฎาคม แต่ละพรรคจะมี Convention ที่มีการลงคะแนนของ Delegates ว่าใครจะเป็นตัวแทนพรรคในการลงชิงตำแหน่ง ปธน. ถ้าไม่ใช่ปีที่มีการเลือก ปธน. ก็ไม่มีการลงคะแนน แต่ Convention มีทุกปี

3. วันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤจิกายนมีการเลือกตั้งระดับประเทศพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ละรัฐจะมีเวลาลงคะแนนที่แตกต่างกันไป ผลของการเลือกตั้งสำหรับ สส. สว. และอื่นๆ ใครได้เสียงมากที่สุดชนะ แต่สำหรับ ปธน. จะไม่ใช่แบบนั้น ผลเลือกตั้งวันนี้คือจำนวน Electors ที่ผู้สมัครแต่ละคนได้ และไม่จำเป็นว่าคนที่ได้คะแนนเยอะที่สุดจะได้เป็น ปธน.

ใครที่รู้ว่าตัวเองจะไม่ว่างไปลงคะแนนวันนั้นสามารถลงคะแนนล่วงหน้า (Early Voting) หรือแจ้งขอลงคะแนนทางไปรษณีย์ (Absentee Ballot) ได้ โดยแต่ละรัฐจะมีวันลงคะแนนล่วงหน้าและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับ Absentee Ballot ที่แตกต่างกันไป

4. เดือนธันวาคม มีการลงคะแนนของ Electors เพื่อเลือก ปธน.

5. ต้นเดือนมกราคม สภา (สว. และ สส.) จะทำการนับคะแนน Electors และรับรองผลการเลือกตั้งว่าใครได้เป็น ปธน. คนต่อไป

6. ปลายเดือนมกราคม ปธน. คนใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

การเลือกตั้งทุกอย่าง ยกเว้น ปธน. เป็นการเลือกตั้งแบบปกติ คือใครได้เสียงข้างมากชนะไป แต่การเลือก ปธน. นั้นต่างไปจากการเลือก ปธน. ที่นี่จะไม่ใช่การเลือก ปธน. โดยตรงแต่คือการเลือกแบบ Electoral College คือการเลือก Elector เพื่อให้ lector เหล่านี้ไปลงคะแนนเลือก ปธน. แทนเราอีกที ในเดือนธันวาคม และผลของการลงคะแนน จะไปนับและรับรองในสภา (Congress) ต้นเดือนมกราคมปีถัดไป ที่มีการจราจลเกิดขึ้นตอนเลือกตั้ง ปธน. ครั้งที่แล้วก็เกิดตอนที่สภาเขาจะรับรองผลการเลือกตั้งนี่แหละค่ะ

ตอนต่อไปเราจะมาอธิบายระบบ Electoral College ให้อ่านนะคะ ว่าประเทศแห่งประชาธิปไตย ดินแดนแห่งเสรีภาพ แต่ทำไมหนึ่งคนหนึ่งเสียงถึงมีค่าไม่เท่ากัน

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

N/A

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด