Home » การเลือกตั้งในอเมริกา (ตอน2) ทำไมหนึ่งคนหนึ่งเสียงถึงมีค่าไม่เท่ากัน?

การเลือกตั้งในอเมริกา (ตอน2) ทำไมหนึ่งคนหนึ่งเสียงถึงมีค่าไม่เท่ากัน?

โดย 2 Cents
120 views

คอลัมน์ เรื่องเล่าจากต่างแดน โดย 2 Cents

Electoral College: ประเทศแห่งประชาธิปไตย ดินแดนแห่งเสรีภาพ แต่หนึ่งคนหนึ่งเสียงมีค่าเท่ากันหรือไม่?

อย่างที่บอกไปในตอนที่แล้ว ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดี (ปธน.) ของที่นี่ (อเมริกา) ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยการเอาเสียงส่วนมากเป็นหลัก แต่เขาใช้ระบบ Electoral College

คือการเลือก Elector เพื่อให้ Elector เหล่านี้ไปลงคะแนนเลือก ปธน. แทนเราอีกที

ระบบนี้มันเป็นยังไง หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่าเทียมกันจริงหรือไม่?

Elector คือใคร?

Elector ก็คือคนแบบเราๆ ท่านๆ นี่แหละค่ะ แต่คือคนที่แต่ละพรรคเลือกมาในแต่ละรัฐ ซึ่งแต่ละรัฐมีจำนวน Electors ไม่เท่ากัน เช่น นิวยอร์ค มี Elector ได้ 28 คน ก็คือ ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันจะเลือกคน 28 คน ในนิวยอร์คให้เป็นตัวแทนของพรรคไปโหวตเลือก ปธน. หลังการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมหากพรรคเขาชนะ

แต่ละพรรคจะเลือก Elector ไว้ทุกรัฐ ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ปกติจะเลือกตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนก่อนที่จะรู้ว่าใครจะเป็นตัวแทนพรรคลงเลือกตั้งเสียอีก

ถึงวันเลือกตั้ง ผลเลือกตั้ง ปธน. คือพรรคที่ได้เสียงข้างมากในแต่ละรัฐจะได้สิทธิ์ส่ง Elector ที่เขาเลือกไว้ไปโหวต ปธน. ตอนปลายธันวาคม ไม่ใช่ใครได้เสียงมากที่สุดทั่วประเทศชนะไปเลย

กฎเกณฑ์การได้ Elector แต่ละรัฐจะต่างกันไป รัฐส่วนมากจะใช้ระบบ winner-take-all คือใครได้เสียงมากกว่าแม้แค่เสียงเดียวจะได้ Electors ทั้งหมด

เช่นสมมติว่า รัฐ A มี Elector 12 คน ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พรรคเดโมแครตได้เสียง 1 ใน 3 ในขณะที่รัฐรีพับลิกันได้คะแนน 2 ใน 3

Elector ทั้ง 12 คนที่พรรครีพับลิกันเลือกไว้ของรัฐนั้นก็จะไปลงคะแนนเลือก ปธน. ในเดือนธันวาคม

มีสองรัฐคือ Maine และ Nebraska เกณฑ์คือพรรคที่ได้เสียงข้างมากในแต่ละเขต สส. ได้ Elector ของเขตนั้น และอีก 2 คนดูจากคะแนนเสียงข้างมากของทั้งรัฐ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการที่จำนวน Elector เท่ากับจำนวน สส. และ สว. ที่แต่ละรัฐมี

ในความเป็นจริง Elector จะลงคะแนนให้ใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องลงให้คนของพรรคที่ได้เสียงข้างมาก ที่เลือกเขามาเป็น Elector ดังนั้นพรรคจะต้องเลือกคนที่เขามั่นใจว่าจะลงคะแนนให้ผู้ลงเลือกตั้งของพรรคเขา แต่ตามมารยาท Elector ก็จะโหวตให้พรรคที่ได้เสียงข้างมาก และหลายรัฐก็มีบทลงโทษ ว่าถ้า Elector ไม่โหวตให้ตัวแทนของพรรคที่ชนะจะโดนลงโทษยังไง

หรือถ้า Elector ไม่ชอบตัวแทนของพรรคที่เลือกเขามาเป็น Elector มากๆ เขาก็จะประกาศ ว่าเขาลงคะแนนให้ไม่ได้จริงๆ เขาขอลาออกจากการเป็น Elector ให้ทางพรรคหาคนอื่นมาเป็น Elector แทน อันนี้เราเห็นเกิดขึ้นตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ตามข่าวในลิงก์นี้นะคะ เผื่อใครสนใจ

https://www.texastribune.org/2016/11/28/texas-republican-elector-resigns-over-trump

———

จำนวน Elector คำนวณยังไง

Elector มีด้วยกันทั้งหมด 538 คน มาจากจำนวน สส. (435 คน) + สว. (100 คน) + 3 คน ของ D.C.

นั่นคือแต่ละรัฐจะมี Elector ได้เท่ากับจำนวน สส. ที่รัฐนั้นมี + 2 (จำนวน สว.)

ดังนั้น Elector ไม่ได้คำนวณจากจำนวนประชากร และรัฐเล็กๆ ที่มีประชากรน้อย จะมี Elector ต่อจำนวนประชากรสูงกว่ารัฐใหญ่ๆ ที่คนเยอะๆ มาก เสียงของคนอเมริกันในการเลือก ปธน. นั้นจึง “มีค่าไม่เท่ากัน”

คือหนึ่งคนหนึ่งเสียงก็จริง แต่หนึ่งเสียงของคนในรัฐเล็กๆ เช่น รัฐ Wyoming (WY) นั้น มีค่ามากกว่าหนึ่งเสียงในรัฐ California (CA) เพราะไม่ว่ารัฐจะเล็กแค่ไหน ก็จะมี Elector ได้ต่ำสุด 3 คน และจำนวน สว. ไม่ได้มาจากจำนวนประชากร เราทำตารางมาให้ดู จะได้เห็นภาพง่ายขึ้นนะคะ

(จากภาพ จำนวนประชากรปี 2023 และจำนวน Elector ของ 10 รัฐที่ประชากรมากที่สุดและน้อยที่สุดในอเมริกา ข้อมูลประชากรจาก U.S. Census Bureau)

จากตารางข้างบนจะเห็นว่า รัฐ WY มีประชากร 584,057 คน มีได้ 3 Electors

นั่นคือรัฐ WY ได้ 1 Elector ต่อจำนวนประชากร 194,686 คน

ในขณะที่แคลิฟอเนียมีประชากร 38,965,193 มากกว่ารัฐ WY ประมาณ 67 เท่า แต่รัฐ CA มี Elector ได้ 54 คน มากกว่ารัฐ WY ประมาณ 18 เท่า (ตรงที่เรา highlight สีเหลืองไว้) หรือ 1 Elector ต่อประชากร 721,578 คน

ถ้าใช้จำนวน Elector ต่อประชากร 194,686 คน เท่ากับรัฐ WY รัฐ CA ควรจะมี Elector มากกว่า WY ประมาณ 67 เท่า ตามจำนวนประชากรที่มากกว่า คือมี Elector 200 คน (แต่จริงๆ มีแค่ 54 คน)

นั่นคือ หนึ่งคนหนึ่งเสียงในรัฐ CA มีค่าในการเลือก ปธน. น้อยกว่า 1/3 ของหนึ่งเสียงในรัฐ WY

และนี่ทำให้บางครั้งผู้สมัครที่ได้เสียงข้างมากไม่ได้รับเลือกให้เป็น ปธน. ซึ่งเราจะมาเล่าให้ฟังในตอนหน้านะคะ

เขาบอกว่าเขาใช้วิธีนี้เพื่อให้รัฐเล็กๆ มีความหมาย ไม่งั้นนักการเมืองอาจจะไม่สนใจรัฐเล็กๆ เพราะหาเสียงแต่รัฐใหญ่ๆ แค่ไม่กี่รัฐก็จะได้เสียงพอแล้ว

ถามว่าแล้วมันแฟร์ไหม? ส่วนตัวเราว่าไม่แฟร์ แต่เมื่อระบบเขาเป็นแบบนี้เราก็ยอมรับแล้วเอาจริงๆ นักการเมืองก็ไม่ได้เน้นรัฐเล็กๆ

แต่เน้นหาเสียงในรัฐที่เป็น swing states ซะมากกว่า

โปรดติดตามตอนต่อไปสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเขียนถึง ได้เสียงข้างมากก็อาจไม่ได้เป็น ปธน.

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

N/A

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด