บทความโดย รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี
ทุกปีผมจะได้เขียนบทความเพื่อสรุปแนวโน้มกลยุทธ์เทคโนโลยีที่บริษัทวิจัย Gartner ประกาศออกมา แนวโน้มเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเทคโนโลยีใดที่กำลังจะมาถึง แต่ยังเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรต่างๆ ต้องพิจารณาเพื่อนำไปวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การวิเคราะห์และการเตรียมพร้อมสำหรับแนวโน้มเหล่านี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการเติบโตและการแข่งขันขององค์กรในอนาคตที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง
ในปีนี้ Gartner ได้ประกาศแนวโน้มเทคโนโลยีที่เป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 2024 ในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยได้เน้นย้ำว่า จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและสร้างโอกาสใหม่ๆ ในช่วง 36 เดือนข้างหน้า
นอกจากประกาศ 10 แนวโน้มแล้ว Gartner ยังได้จัดกลุ่มแนวโน้มเทคโนโลยีออกเป็น 3 กลุ่มดังภาพประกอบด้านล่างนี้ โดยประกอบด้วย
- กลุ่มที่ 1: Protect your investment เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีขององค์กรจะได้รับผลลัพธ์ที่คงอยู่อย่างยั่งยืน
- กลุ่มที่ 2: Rise of the builders ผู้ประกอบการจำนวนมากต่างสร้างสรรค์แอปพลิเคชันและโซลูชันเฉพาะทางส่งออกสู่ตลาด
- กลุ่มที่ 3: Deliver the value ส่งมอบเทคโนโลยีเพื่อขยายทางเลือกในการขับเคลื่อนรายได้ และปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานให้ดีกว่าเดิม
สำหรับรายละเอียดของแต่ละแนวโน้มเทคโนโลยีทั้ง 10 ด้าน มีดังนี้
1. Democratized Generative AI การเข้าถึงของเทคโนโลยี Generative AI (GenAI) อย่าง ChatGPT กำลังทำให้อะไรหลายๆ อย่างกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมากซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยการพัฒนาโมเดล AI ที่ได้รับการฝึกฝนมาจากข้อมูลมหาศาล ทำให้ GenAI สามารถสร้างเนื้อหาได้เอง และเข้ามาช่วยงานคนได้อย่างมาก
Gartner ทำนายว่า ภายในปี 2026 มากกว่า 80% ขององค์กรต่างๆ จะมีการใช้ GenAI หรือได้นำแอปพลิเคชันที่ใช้ GenAI มาใช้ในการทำงาน จากที่มีเพียงไม่ถึง 5% ในต้นปี 2023 การใช้ GenAI จะช่วยนำความรู้และทักษะที่หลากหลายเข้ามาใช้ในองค์กรได้มากขึ้น โมเดลภาษาขนาดใหญ่ของ GenAI จะช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมโยงการทำงานของบุคลากรกับความรู้ใหม่ๆ ในรูปแบบการสนทนากับ GenAI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. AI Trust, Risk and Security Management เนื่องจากมีการเข้าถึง AI ที่มากขึ้น ดังนั้นการจัดการความเชื่อถือ ความเสี่ยง และความปลอดภัยใน AI หรือที่ Gartner เรียกว่า AI TRiSM จึงกลายเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีการป้องกันที่เหมาะสม โมเดล AI อาจทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงลบได้
AI TRiSM คือเรื่องของการป้องกันการใช้งานข้อมูลอย่างรอบคอบ ความปลอดภัยเฉพาะด้าน AI การตรวจสอบโมเดล (รวมถึงการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลและโมเดล และผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด) และการควบคุมความเสี่ยงสำหรับการใช้โมเดลและแอปพลิเคชันจากบุคคลที่สาม ทั้งนี้ Gartner ทำนายว่าภายในปี 2026 องค์กรที่มีระบบควบคุมตามหลักการ AI TRiSM จะเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจโดยลดข้อมูลที่ผิดพลาดและไม่ถูกต้องได้ถึง 80%
3. AI-Augmented Development การพัฒนาซอฟต์แวร์หรือโซลูชันต่างๆ จะเป็นการนำเทคโนโลยี AI เช่น GenAI เพื่อมาช่วยวิศวกรซอฟต์แวร์ในการออกแบบ เขียนโค้ด และทดสอบแอปพลิเคชัน การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก AI จะสามารถเพิ่มผลผลิตของนักพัฒนาและช่วยให้ทีมงานสามารถตอบสนองต่อความต้องการซอฟต์แวร์เพื่อการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
เครื่องมือพัฒนาที่บูรณาการกับ AI นี้ทำให้วิศวกรซอฟต์แวร์ใช้เวลาน้อยลงในการเขียนโค้ด และสามารถใช้เวลามากขึ้นในงานที่มีความสำคัญทางด้านกลยุทธ์ เช่น การออกแบบ และการจัดรูปแบบของแอปพลิเคชันทางธุรกิจให้ตรงความต้องการผู้ใช้มากขึ้น
4. Intelligent Applications หรือ แอปพลิเคชันอัจฉริยะ คือการนำ AI มาผนวกกับแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ Gartner นิยามว่าเป็นการทำให้แอปพลิเคชันสามารถปรับตัวได้จากการเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างเหมาะสม และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบอัตโนมัติได้ดีขึ้น
การสำรวจของ Gartner ในปี 2023 พบว่า 26% ของ CEO มองว่าการขาดแคลนบุคลากรเป็นความเสี่ยงสูงสุดสำหรับองค์กร การทำงานโดยใช้แอปพลิเคชันอัจฉริยะก็จะมีส่วนช่วยทำให้พนักงานทำงานได้ง่ายขึ้น และจะช่วยดึงดูดและรักษาบุคลากรในองค์กรได้
5. Augmented-Connected Workforce แนวโน้มของ Augmented-Connected Workforce (ACWF) คือกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าที่ได้จากการทำงานของมนุษย์ โดยการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการทำงาน เช่น AI, Big Data, AR หรือ VR และใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันอัจฉริยะ การพัฒนาทักษะของพนักงานให้สามารถทำงานเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี จะมีผลต่อประสิทธิภาพ
Gartner ทำนายว่า ภายในปี 2027 จะมี CIO อย่างน้อย 25% ที่จะนำกลยุทธ์ ACWF มาใช้เพื่อลดระยะเวลาในการทำงานได้ถึง 50% สำหรับงานที่สำคัญในด้านต่างๆ
6. Continuous Threat Exposure Management (CTEM) เป็นกระบวนการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถประเมินความสามารถในการเข้าถึง ความเสี่ยงจากการถูกเปิดเผยและการถูกใช้ประโยชน์ของระบบเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ การประเมินและการแก้ไขตาม CTEM ที่ปรับให้เข้ากับภัยคุกคามหรือโครงการด้านธุรกิจต่างๆ แทนที่จะพิจารณาป้องกันเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานหลักจะช่วยให้องค์กรสามารถเห็นช่องโหว่และภัยคุกคามต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
โดยในปี 2026 Gartner คาดการณ์ว่า องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความปลอดภัยตามโปรแกรม CTEM จะสามารถลดการเกิดการรั่วไหลของข้อมูลได้ถึงสองในสามเท่า
7. Machine Customers หรือที่ Gartner เรียกว่า ‘custobots’ คือลูกค้าที่มาจากระบบอัตโนมัติ ที่จะตัดสินใจและต่อรองการซื้อสินค้าแทนมนุษย์ ซึ่งแตกต่างจากระบบปัจจุบันที่คนยังเป็นผู้เลือกและต่อรองการซื้อขายเองโดยมีระบบ AI เป็นเครื่องมือช่วย ระบบ Custobot จะนำการเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมๆ เพราะสินค้าจะถูกสั่งซื้อมาเองอัตโนมัติ
Gartner คาดว่าภายในปี 2028 จะมีอุปกรณ์ IoT ถึง 15 พันล้านชิ้น เช่น กล้องอัจฉริยะ รถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อ และนาฬิกาอัจฉริยะ ที่จะมีศักยภาพทำหน้าที่เป็นลูกค้าแบบนี้ และจะมีเพิ่มขึ้นหลายพันล้านชิ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แนวโน้มนี้อาจเป็นแหล่งรายได้หลายล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030
8. Sustainable Technology เป็นกรอบการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (ESG) เพื่อสนับสนุนสมดุลทางนิเวศวิทยาในระยะยาว การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น ไอไอ สกุลเงินคริปโทฯ ไอโอที และคลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการใช้พลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดแนวโน้มที่การใช้ทรัพยากรด้านไอที ต้องมีประสิทธิภาพ, มีการหมุนเวียน, และยั่งยืนมากขึ้น
Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรใหญ่ประมาณ 25% จะมีตัวชี้วัดผลกระทบที่ถูกเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีที่ยั่งยืน
9. Platform Engineering เป็นกระบวนการพัฒนาโซลูชันในองค์กรด้วยตัวเองโดยใช้แพลตฟอร์มที่แบ่งเป็นชั้น แต่ละชั้นจะมีซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบไว้เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ การพัฒนาโซลูชันจึงคล้ายกับการต่อจิ๊กซอว์เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ในแต่ละแพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน จุดประสงค์ของ Platform Engineering คือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้ และเร่งการส่งมอบโซลูชันได้รวดเร็วขึ้น
10. Industry Cloud Platforms (ICPs) คือการใช้แพลตฟอร์มที่เป็นระบบคลาวด์คอมพิวติ้งในการพัฒนาโซลูชันโดยใช้บริการต่างๆ เช่น IaaS, PaaS และ SaaS ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในองค์กรซึ่งจะทำได้รวดเร็ว และสามารถใช้แพลตฟอร์มบนระบบคลาวด์คอมพิวติ้งจากหลายๆ ค่ายได้

Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 มากกว่า 70% ขององค์กรจะใช้ ICPs ในการพัฒนาโซลูชันในการดำเนินธุรกิจจากที่เคยมีน้อยกว่า 15% ในปัจจุบัน ICPs ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการขององค์กรแต่ละแห่งได้
แนวโน้มเทคโนโลยีที่ Gartner คาดการณ์ไว้ทั้ง 10 ด้าน อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับบางองค์กรในประเทศไทย แต่การศึกษากลยุทธ์ทั้ง 10 ด้านของ Gartner ยังคงมีความจำเป็นอย่างมาก ในการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนกลยุทธ์องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีไอที เพื่อให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมและช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
ในปีหน้าน่าจะเป็นปีที่เทคโนโลยี เช่น Generative AI และ AI จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างไร และควรพิจารณาทั้งข้อดีและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย
สิ่งที่สำคัญคือการที่แต่ละองค์กรจะนำความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความท้าทายเฉพาะของตนเอง การที่จะประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลนี้ไม่เพียงแต่ต้องการเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ยังต้องการวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและความสามารถในการปรับตัวเพื่อเอาชนะความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกองค์กรควรพิจารณาว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดอย่างไร เพื่อให้สามารถเดินหน้าไปในอนาคตที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมและการเติบโตที่ยั่งยืน