Home » ขโมยของที่อเมริกา ทำไมไม่กลัวโดนจับ?

ขโมยของที่อเมริกา ทำไมไม่กลัวโดนจับ?

โดย 2 Cents
667 views

คอลัมน์ เรื่องเล่าจากต่างแดน โดย 2 Cents

หลายคนอาจจะเคยเห็นคลิปการขโมยของในห้างที่อเมริกา และอาจสงสัยว่า ทำไมการขโมยของที่อเมริกาจึงทำกันอย่างง่ายดาย และดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีใครสนใจ ที่จะห้ามหรือขัดขวาง ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?? วันนี้จึงขอหยิบประเด็นนี้มาเล่าให้อ่านกันนะคะ

เมื่อวันก่อนไปซื้อของที่ร้าน Walmart ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตเหมือนประมาณ Lotus บ้านเรา เราไม่ได้มาสาขานี้สักสองเดือนได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาเราเปลี่ยนไปซื้ออีกสาขานึงที่อยู่ระหว่างทางกลับบ้าน

ไปถึงแถวที่เป็นโลชั่น จากที่เคยเป็นชั้นวางอยากได้อะไรก็หยิบ กลายเป็นตู้กระจกล็อคกุญแจ ตรงต้นซอยเขามีปุ่มให้กดเรียกพนักงานมาเปิดตู้ให้เราหยิบของ มีคนยืนรออยู่ในซอยนี้เต็มเลย สักพักมีพนักงานมาเปิดตู้ เราเลยถามพนักงานว่าขโมยกันเยอะขนาดต้องล็อคเลยเหรอ เขาตอบว่า “ใช่ แต่เริ่มดีขึ้นแล้ว” (ก็พี่ล็อคตู้ซะขนาดนี้ ถ้าไม่ดีขึ้นก็แย่แล้วนะ)

(จากรูป: ชั้นวางโลชั่นทาผิวที่มีประตูกระจกล็อค ใครอยากได้อะไรก็กดปุ่มสีฟ้าแล้วพนักงานจะมาเปิดตู้ให้หยิบ)

=====
ทำไมขโมยไม่กลัว และ ทำไมพนักงานไม่จับ
บางคนคงเคยเห็นคลิปการขโมยของที่นี่ ที่คนเข้าไปขโมยของในร้านแบบต่อหน้าต่อตา หยิบเสื้อผ้าเต็มแขน หยิบรองเท้าใส่ถุงแล้วก็เดินออกจากร้านไปเฉยๆ ไม่มีใครทำอะไร เห็นแล้วอาจจะสงสัยว่าทำไมกล้าทำกันขนาดนี้ไม่กลัวโดนจับอะไรกันเลยหรือไง แล้วทำไมพนักงานไม่จับไว้

เรื่องขโมยของในห้างที่เห็นกันนี่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบของที่นี่ค่ะ ที่ทำให้คนขโมยกันอย่างไม่กลัว ถึงขนาดทำกันเป็นองค์กรเลยทีเดียว คือคนพวกนี้ไม่ได้ขโมยเพราะยากจนไม่มีจะกิน แต่ทำกันเป็นแก๊ง ขโมยกันเป็นอาชีพ  การจะเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ คงต้องเข้าใจระบบของที่นี่ก่อน

ที่เขากล้าทำกันขนาดนั้นก็เพราะเขารู้ว่าเขาทำได้ ไม่มีใครห้ามเขาและไม่มีใครไปแจ้งตำรวจมาตามจับเขา

“ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?”
นั่นเป็นเพราะ…

1. ร้านค้าส่วนมากจะบอกพนักงานว่าอย่าไปยุ่งถ้าใครขโมยของ ดังนั้นพนักงานทั่วไปที่ไม่ใช่พวก loss prevention ถึงเขาจะเห็นคุณขโมยของเขาก็จะไม่ยุ่งค่ะ เขาจะปล่อยให้คุณเอาไป ทำไมร้านค้าถึงทำแบบนี้?

นั่นเป็นเพราะคนที่นี่ฟ้องร้องกันเป็นเรื่องปกติ ฟ้องทุกอย่าง คนซื้อกาแฟร้อนแล้วไม่ระวังกาแฟหกลวกขาเธอ เธอยังฟ้อง Mc Donalds ชนะคดีได้เงินไปพอสมควร

ดังนั้นร้านค้ายอมเสียค่าของไม่กี่บาทดีกว่าให้พนักงานไปห้ามคนที่ขโมยของ เพราะถ้าขโมยมีอาวุธทำร้ายพนักงานเกิดบาดเจ็บอะไรขึ้นมา นอกจากทางร้านจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พนักงาน (ซึ่งค่ารักษาพยาบาลที่นี่ก็เป็นที่รู้กันว่าแพงมาก) ทางร้านอาจจะถูกพนักงานฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกด้วย

แม้แต่ตัวขโมยเอง ถ้าพนักงานใช้ความรุนแรงเกินควรทำหัวขโมยบาดเจ็บ เขาก็ฟ้องทางร้านได้เหมือนกัน ใช่ค่ะคุณไปขโมยของเขา แต่ถ้าเขาใช้ความรุนแรงเกินไปคุณก็ฟ้องเขาได้ มันคนละกรณีกัน

ดังนั้นร้านค้ายอมให้คนขโมยเสียค่าของนิดหน่อยดีกว่าที่จะต้องมาเสียค่ารักษาพยาบาลหรือค่าเสียหายอะไรที่อาจจะตามมา ที่อาจจะแพงกว่าค่าของมาก

2. ที่นี่ในหลายรัฐ (กฎหมายพวกนี้จะเป็นกฎหมายระดับรัฐ แต่ละรัฐจะแตกต่างกันไป) การขโมยของมูลค่าน้อยๆ นั้นถือเป็น petty offense หรือ petit larceny ไม่จัดเป็น misdemeanors หรือ felony คือเป็นการกระทำผิดที่เล็กน้อยมากแทบจะไม่มีบทลงโทษอะไรเลย

ตำรวจเองก็ไม่อยากจับเพราะจับไปก็แทบจะไม่มีผลอะไร จับไปอัยการก็ไม่อยากส่งฟ้องศาลให้ทำอะไร เพราะค่าใช้จ่ายในการส่งฟ้องนั้นสูงกว่าค่าเสียหาย ร้านค้าเองก็ไม่อยากแจ้งตำรวจเพราะรู้ว่าแจ้งไปก็ไม่มีผลอะไร คนขโมยถึงขโมยกันอย่างไม่กลัว

แต่ถ้าขโมยของที่มีมูลค่ารวมสูงในระดับนึง ซึ่งสูงแค่ไหนก็แล้วแต่รัฐ อย่างนิวยอร์คคือ $1,000 จะถือเป็น grand larceny หรือ felony ที่มีบทลงโทษที่ค่อนข้างหนัก คุ้มกับการจับมาลงโทษ

=====
แก้ไขยังไง ให้ขโมยกลัวมากขึ้น?
สองปัจจัยนี้ประกอบกันทำให้ธุรกิจไม่สนใจที่จะไปไล่จับพวกที่ขโมยของเล็กๆ น้อยๆ เพราะได้ไม่คุ้มเสีย

แต่สิ่งที่เขาทำก็คือ ล็อคของไว้ในตู้แบบนี้ ล็อคของแต่ละชิ้น หรือใส่ตัวส่งสัญญานไว้ที่ของแต่ละชิ้น ที่จะส่งเสียงเวลาผ่านประตู หรือเพิ่มเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ป้องกันการขโมยโดยเฉพาะ (ที่ผ่านการอบรมเป็นพิเศษว่าจะจัดการกับพวกนี้ยังไง) อะไรแบบนั้น

บางทีถ้าเขารู้ว่าคนไหนเป็นพวกหัวขโมย เขาจะใช้วิธีเก็บข้อมูลคือคลิปกล้องวงจรปิด ว่าหัวขโมยคนนี้ขโมยอะไรไปกี่ครั้งแล้วเอาอะไรไปบ้าง มูลค่าเท่าไหร่ เมื่อไหร่ที่มูลค่าของที่ขโมยรวมแล้วสูงเกินเกณฑ์พอที่จะเป็น felony ถึงแจ้งตำรวจจับ

ในส่วนของรัฐบาลก็มีความพยายามที่จะหยุดพวกหัวขโมยนี้ อย่างที่นิวยอร์คปีนี้มีการแก้กฎหมาย ให้ทางอัยการสามารถเอามูลค่าของที่คนขโมยจากหลายร้านมารวมกันได้ในการพิจารณาความผิด

คือถ้าขโมยคนเดียวกันขโมยของจาก 2 ร้านมูลค่า $500 กับ $510 แต่เดิมถือเป็น 2 คดี คดีละน้อยกว่า $1,000 ซึ่งเป็น petit larceny ตอนนี้สามารถเอามูลค่าของที่ถูกขโมยจากสองร้านมารวมกันเป็น $1,010 ซึ่งถือเป็นคดี grand larceny ที่มีโทษหนักกว่าเยอะ นอกจากนี้ก็เพิ่มกฎให้การทำร้ายพนักงานร้านค้าถือเป็น felony ทำให้การขโมยของพวกนี้มีโทษที่หนักขึ้น คุ้มกับการจับมาดำเนินคดี

กฎหมายที่นี่มีอะไรแปลกๆ เยอะค่ะ ช่องโหว่ของกฎหมายก็มาก คือคนดีๆ เขาก็จะไม่สนใจอะไรพวกนี้ แต่ก็มีคนส่วนน้อยที่คอยหาช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อจะฉวยโอกาสหาประโยชน์ให้ตัวเอง

สรุปก็คือการขโมยของในห้างแบบนี้ก็คงจะมีต่อไปเพราะทำยังไงก็คงอุดช่องโหว่ไม่หมด

และแม้แต่การขโมยของมูลค่ามากๆ อย่างเครื่องเพชร ส่วนมากทางร้านก็จะไม่ให้ต่อสู้หรือขัดขวางขโมยนะคะ ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ เกิดอะไรขึ้นมาทางร้านต้องรับผิดชอบ และร้านพวกนี้เขาจะมีประกัน เขาไปเคลมประกันเอาดีกว่า

ไว้เราจะมาเล่าเรื่องโจรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่นี่ บางเรื่องอ่านแล้วนึกถึงหนัง อะไรแบบนั้นเลย เราอ่านแล้วรู้สึกสนุกและน่าสนใจ แต่ผู้เสียหายเขาคงไม่สนุกด้วย

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

152,410

152,410

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด