Home » “ด้วยรักและผุพัง” คว้ารางวัลซีไรต์ ปี 2566

“ด้วยรักและผุพัง” คว้ารางวัลซีไรต์ ปี 2566

โดย กองบรรณาธิการ
166 views

คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประกาศผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประเภท “รวมเรื่องสั้น” ประจำปี 2566 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ เป็นประธาน ณ ห้อง Auditorium ชั้น 10, C asean อาคาร CW Tower พร้อมด้วย  นายพิษณุ สุวรรณะชฎ รองประธานศูนย์ ซี อาเซียน อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหราชอาณาจักร ซึ่งการจัดงานครั้งนี้สนับสนุนโดย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ,มูลนิธิเอสซีจี ,ปตท. , บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)               

ดร.สุเมธตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ กล่าวว่า “รางวัลซีไรต์ถือกำเนิดมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 45 ปี โดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดแต่ละปี ปี 66 นี้ หนังสือรวมเรื่องสั้นเข้าประกวดจำนวน 64 เล่ม การคัดเลือกแบ่งเป็น 2 รอบ โดยคณะกรรมการคัดเลือกรวมเรื่องสั้นรอบแรก จำนวน 17 เล่มด้วยกัน และพิจารณารอบคัดเลือก จำนวน 7 เล่ม

คณะกรรมการตัดสินวรรณกรรมอาเซียนหรือซีไรต์ ประจำปี 2566 มีความเห็นว่า รวมเรื่องสั้น Family Comes First  ด้วยรักและผุพัง โดยนริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ สำนักพิมพ์แซลมอน ซึ่งเล่าเรื่องคนไทยเชื้อสายจีนในมุมมองใหม่ โดยผู้เขียนใช้เป็นเครื่องมือเชิงคำถามต่อจารีตประเพณี ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงค่านิยมบางประการ เช่น ค่านิยมเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ มายาคติของสายเลือด ซึ่งตัวละครตกอยู่ในกับดักของประเพณี ผู้หญิงถูกกดทับ ด้วยพันธนาการ ความเศร้าหม่น ประเพณี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของครอบครัวใหญ่ได้ล่มสลายลง และสร้างบาดแผลให้กับครอบครัว และก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม               

แต่กระนั้นในความผุพังก็มีความรักเป็นเครื่องผูกพัน ผู้เขียนได้ถ่ายทอดความเป็นจีน ในวิธีการเขียนที่หลากหลาย ทั้งแนวสมจริง แนวสัจนิยมมหัศจรรย์ เพื่อเชิญชวนให้ผู้อ่านตีความได้หลายนัย การใช้ภาษาที่เอื้อต่อการตีความ เช่น การใช้สีแดง เพื่อสื่อสารความหมายของความขัดแย้ง ด้วยสีแห่งความมงคลและสีแห่งความตายในบรรยากาศของความลึกลับ

นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารนอกตัวบท (paratex) เช่น การออกแบบหน้าปกให้มีชื่อเรื่องเป็นภาษาไทย จีน อังกฤษ การใช้อักษรจีนเป็นส่วนประกอบของตัวบท ช่วยสื่อนัยของการปะทะสังสรรค์กันระหว่างรากเหง้าทางชาติพันธุ์กับความเป็นสมัยใหม่                

คณะกรรมการจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ รวมเรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง ของนริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2566   

            

รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการลงมติเอกฉันท์ด้วยลักษณะงานเขียนเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่พูดถึงคนไทยเชื้อสายจีน แต่สามารถดึงเราให้เข้าสู่ปัญหาร่วมสมัย เช่น ความรุนแรงในครอบครัว สังคมสูงวัย และผู้สูงอายุที่มีภาวะอัลไซเมอร์ เล่าเรื่องโดยใช้สัญลักษณ์ ตีความได้หลายนัยมีความเป็นอุปมา ตัวงาน สามารถดึงเราสู่โครงเรื่องที่ตรึงผู้อ่านไว้กับเรื่องราวต่างๆ ผู้เขียนเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งมาก สามารถทำให้เราตีความได้มากมาย ทำให้ครุ่นคิดถึงปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว

ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาครอบครัวและจารีตประเพณีต่าง ๆ ผู้เขียนทำให้เราตั้งคำถาม และมองความสมดุลกันระหว่างการรักษาจารีตประเเพณี ท่ามกลางสังคมสมัยใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งปัญหาช่องว่างระหว่างวัย  คนรุ่นเก่าที่ต้องการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี               

ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาตั้งคำถามกับแนวปฏิบัติคนรุ่นก่อน ผลงานมีความหลากหลายในการนำเสนอ ทำให้เรารู้สึกถึงความแปลกใหม่ ทำให้ผู้อ่านติดตามจนจบเล่ม ซึ่งโดยส่วนตัวได้อ่านเรื่องสั้นจนจบในคราวเดียว เล่มนี้เขียนได้อย่างมีชั้นเชิง ถือเป็นผู้ที่มีศิลปะการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ รูปเล่มได้รับการออกแบบอย่างละเอียด ให้ความสนใจกับตัวอักษร กราฟฟิกต่างๆ มีความละเอียดละเมียดละไมในการสร้างสรรค์ มีความสอดคล้องกันทั้งเล่ม ทั้งสี คาแรคเตอร์ตัวอักษร ดึงความสนใจผู้อ่าน หากผู้อ่านสังเกตให้ดีจะพบว่ามีสัญลักษณ์ซ่อนอยู่มากมายในตัวหนังสือเล่มนี้

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

N/A

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด