Home » ตัววัดด้านธรรมาภิบาลที่กิจการควรใช้ตอบโจทย์ SDG

ตัววัดด้านธรรมาภิบาลที่กิจการควรใช้ตอบโจทย์ SDG

137 views

บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

ในบทความนี้ จะพูดถึง 7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล (ด้านสุดท้าย ท่านสามารถย้อนอ่านอีกทั้งสามด้านได้จากบทความก่อนหน้านี้) ซึ่งเป็นข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยต่อสาธารณชน ตามข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับดูแลประกาศเป็นแนวทางไว้อยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด

ตัววัดด้านธรรมาภิบาลทั้ง 7 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย

  1. จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการและอัตราการเข้าร่วมประชุม (Number of board meetings and attendance rate) เป็นตัวเลขจำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการบริษัท และอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลและสมรรถนะของกลไกการกำกับดูแลกิจการ
  2. จำนวนและร้อยละของกรรมการหญิง (Number and percentage of women board members) เป็นตัวเลขจำนวนกรรมการหญิงในคณะกรรมการบริษัท และร้อยละของกรรมการหญิงในคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายในมิติหญิงชาย
  3. ช่วงอายุของกรรมการ (Board members by age range) เป็นข้อมูลแสดงลักษณะเฉพาะของกรรมการบริษัทจำแนกตามช่วงอายุ ความสมดุลด้านอายุในคณะกรรมการบริษัท ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจที่รอบด้าน
  4. จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและอัตราการเข้าร่วมประชุม (Number of meetings of audit committee and attendance rate) เป็นตัวเลขจำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบ ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผล ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของกลไกการกำกับดูแลกิจการ
  5. ค่าตอบแทนรวมต่อกรรมการ (Total compensation per board member) เป็นตัวเลขค่าตอบแทนของกรรมการในรอบการรายงาน ทั้งกรรมการที่เป็นผู้บริหาร (Executive Director) และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร (Non-executive Director: NED)
  6. ค่าปรับจ่ายหรือค้างจ่ายเพื่อระงับข้อพิพาท (Amount of fines paid or payable due to settlements) เป็นจำนวนเงินค่าปรับจ่ายหรือที่ค้างจ่าย อันเนื่องมาจากกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการทุจริต ที่ถูกกล่าวโทษโดยหน่วยงานกำกับดูแล และศาล ในรอบการรายงาน
  7. ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริตต่อปีต่อคน (Average hours of training on anti-corruption issues per year per employee) เป็นตัวเลขจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริตที่พนักงานได้รับในรอบการรายงาน

ทั้ง 7 ตัววัดธรรมาภิบาลข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 5 ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 5.5.2) และเป้าที่ 16 ความสงบสุข ความยุติธรรม และการมีสถาบันที่เข้มแข็ง (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 16.5.2 เป้าหมาย SDG ที่ 16.6 และตัวชี้วัด SDG ที่ 16.7.1)

นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย

สำหรับรายละเอียดของ 7 ตัววัดด้านธรรมาภิบาล สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการแปลจากเอกสารแนวทางฉบับที่ ISAR จัดทำขึ้น และเผยแพร่ไว้ในหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เว็บไซต์ https://thaipat.org

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

N/A

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด