Home » ทำไม? ธุรกิจนอกตลาดหลักทรัพย์ต้องทำเรื่อง ESG

ทำไม? ธุรกิจนอกตลาดหลักทรัพย์ต้องทำเรื่อง ESG

78 views

บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ต่างต้องตระหนักถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพราะหากไม่ทำก็อาจจะไม่สามารถอยู่ในห่วงโซ่อุปทานต่อไปได้ จึงมีคำถามว่าทำไมเป็นเช่นนั้น?

ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่างมากจึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า เหตุใดบรรษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทมหาชนที่มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพราะแรงขับดันหลัก ๆ มาจาก

ประการแรก การที่กิจการเหล่านั้นมีผู้ถือหุ้นมากรายที่มีส่วนเป็นเจ้าขององค์กร จึงจำเป็นที่หน่วยงานกำกับดูแล ต้องมีกฎระเบียบที่เข้มข้นมากกว่าบริษัททั่วไป เนื่องจากเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก และจะได้รับความเสียหายในวงกว้าง หากเกิดการฉ้อโกงหรือการบริหารงานที่ผิดพลาด

ประการต่อมา ด้วยความที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งมีการจ้างงาน มีลูกค้า รวมทั้งมีคู่ค้าทั้งในฝั่งต้นน้ำและปลายน้ำในปริมาณมาก จัดว่าเป็นองค์กรที่มีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก หากกิจการดำเนินงานโดยไม่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน หวังประโยชน์ระยะสั้นประเภทตีหัวเข้าบ้าน จะก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อสังคมในวงกว้าง

ประการสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุดและจัดเป็นประเด็นสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องผู้คนและสังคม นั่นคือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือต่อโลก ที่ซึ่งกิจการขนาดใหญ่มีการจัดหาวัตถุดิบ มีการแปรรูปทรัพยากร มีการผลิตขนาดใหญ่ และอาจมีปริมาณของเสียที่ไม่สามารถบำบัดหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เกิดเป็นมลภาวะทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางผิวดินสะสมอย่างต่อเนื่อง

บริษัทเล็กๆ ถ้าต้องค้าขายกับบริษัทมหาชน ก็ต้องทำ ESG ด้วย

ขณะที่บริษัทนอกตลาดหรือกิจการที่มิได้มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากมิได้เป็นบริษัทมหาชนหรือมีผู้ถือหุ้นมากราย การดำเนินการเรื่องความยั่งยืนในประเด็นด้านธรรมาภิบาล จึงอาจไม่เข้มข้นเท่ากับบริษัทจดทะเบียน

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์ปัจจุบัน ที่บริษัทรายใหญ่ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ และมีการดำเนินการเรื่อง ESG ได้ผลักดันให้คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานของตนต้องดำเนินการเรื่อง ESG ในระดับเดียวกันหรือได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่บริษัทรายใหญ่เป็นผู้กำหนด ทำให้คู่ค้าที่เป็นบริษัทนอกตลาด ต้องมีการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อให้ตนเองยังสามารถค้าขายหรืออยู่ในห่วงโซ่อุปทานได้ตามปกติต่อไป

แม้บริษัทนอกตลาดที่มิได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทรายใหญ่ หรือทำธุรกิจประเภทฉายเดี่ยว (Stand-alone) ยังต้องเริ่มดำเนินการเรื่อง ESG บ้างไม่มากก็น้อย เนื่องจากผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ต่างหันมาให้ความใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือจากบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านราคาและคุณภาพ บริษัทนอกตลาดที่ปรับตัว ก็จะมีโอกาสรักษาตลาดหรือเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ ได้มีการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์หรือมาตรการลดหย่อนทางภาษีให้กับบริษัทที่ดำเนินการเรื่อง ESG ซึ่งกลายเป็นแต้มต่อให้บริษัทนอกตลาดที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืน มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ลดลงเมื่อเทียบกับบริษัททั่วไป แรงขับดันที่บริษัทนอกตลาดต้องดำเนินการเรื่องความยั่งยืน ในมุมมองข้างต้น จึงมิได้ตั้งอยู่บนเหตุผลเพียงเพื่อโลกสวยหรือสังคมใส แต่ ESG เป็นเงื่อนไขทางธุรกิจ ที่ทำให้บริษัทอยู่รอดและเติบโต จากการไม่ถูกกีดกันให้ออกจากตลาด ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ และยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานจากการได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นต้น

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

N/A

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด