บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์
หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะองค์กรขนาดใหญ่ หรือ SMEs ต่างต้องมีเอกสารสำคัญ 2 ชิ้น ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนธุรกิจ นั่นคือ Product Catalogue และ Company Profile แต่ปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ESG Profile เป็นเครื่องมือชิ้นที่ 3 ในการดำเนินธุรกิจไปแล้ว
ทั้งนี้เนื่องจากประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น และกระทบกับกิจการในทุกขนาดทุกสาขา ไม่จำกัดอยู่เพียงบรรษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังครอบคลุมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะกิจการซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่มีบริษัทรายใหญ่ดำเนินการเรื่อง ESG ซึ่งได้ผลักดันให้คู่ค้าต้องดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย
ปัจจุบัน SMEs จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับเอกสารทั้ง 3 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่เสริมบทบาทในทางธุริกจซึ่งกันและกัน โดยหน้าที่หลักของเอกสาร 3 ชิ้น มีดังนี้
- Product Catalogue มีหน้าที่ทำให้คนรู้ว่า เราขายอะไร (What) ผลิตภัณฑ์ของเราช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ท่าน หรือใช้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร พร้อมสรรพคุณกำกับว่า สินค้าและบริการของเรามีดีและโดดเด่นกว่าเจ้าอื่นอย่างไร
- Company Profile มีหน้าที่ทำให้คนเชื่อมั่นว่า ทำไม (Why) ต้องซื้อจากเรา องค์กรของเราน่าเชื่อถือและมั่นคงอย่างไร มีขอบข่ายการให้บริการกว้างขวางขนาดไหน และเมื่อเป็นลูกค้าแล้ว ย่อมไว้วางใจได้อย่างแน่นอน
- ESG Profile มีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผลิตภัณฑ์และองค์กร ในมุมมองของการแสดงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลที่ดีของกิจการ ที่เรียกรวมว่าข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance)
ESG Profile มักจัดทำในรูปของรายงานที่เรียกกันว่า Sustainability Report หรือ ESG Report ซึ่งในอดีตมักจะมีให้เห็นแต่เฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีกิจการนับหมื่นแห่งทั่วโลกที่ดำเนินการจัดทำรายงานเผยแพร่ดังกล่าว
แต่ปัจจุบันใช่ว่า SMEs จะมีข้อมูลหรือจัดทำเอกสารประเภทนี้ไม่ได้ เพียงแต่เรายังไม่ค่อยเห็น SMEs ส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากนัก สาเหตุหลักก็คงเป็นเพราะขาดแรงจูงใจหรือไม่เห็น Benefits มากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับเวลาและทรัพยากรที่ต้องใช้และมีอยู่ค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว
ทว่าก็มี SMEs หลายแห่งที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ทางธุรกิจต่อการเผยแพร่ข้อมูล ESG ดังกล่าว เพียงแต่ไม่ได้ทำในรูปแบบที่เป็นทางการ ดังเช่นรายงานแห่งความยั่งยืนในองค์กรขนาดใหญ่ แต่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นการเผยแพร่ “ข้อมูลเด่นด้าน ESG” หรือ ESG Profile เพื่อตอบโจทย์ทั้งทางธุรกิจที่สะท้อนในรูปของกำไร (Profit) และผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (People and Planet) ควบคู่ไปพร้อมกัน
ESG Profile ในองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็กอย่าง SMEs จึงมีหน้าที่ในการทำให้คนรู้ว่า ผลิตภัณฑ์และองค์กรที่เขาเหล่านั้นใช้บริการอยู่ ไม่สร้างผลลบ และ/หรือ สร้างผลบวกให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง (how good)
เมื่อพิจารณาเทียบกับ Product Catalogue ซึ่งมีข้อมูลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) เป็นหลัก หรือใน Company Profile ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและสายผลิตภัณฑ์ในภาพรวม เนื้อหาในเอกสารประเภท ESG Profile จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลดีหรือผลกระทบในเชิงบวกของผลิตภัณฑ์และองค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแก้ไข (หรือคำมั่นว่าจะแก้ไข) ผลเสียหรือผลกระทบในเชิงลบที่ผ่านมาของกิจการ
ในทางปฏิบัติ เราอาจรวมข้อมูลใน ESG Profile ไว้ในเอกสาร Product Catalogue หรือ Company Profile ด้วยได้ แต่เนื่องจากเรื่องความยั่งยืนในทุกวันนี้ ได้รับความสนใจจากสังคม และผู้บริโภคก็มีความตื่นตัวมาก การเน้นให้ความสำคัญกับข้อมูลนี้ ด้วยการแยกเป็นเอกสาร ESG Profile จึงเป็นเรื่องที่หลายองค์กรดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อกระแส ESG ดังกล่าว
ออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก คาดการณ์ว่า ตลาดบริการข้อมูลด้าน ESG ทั่วโลก จะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.59 พันล้านเหรียญในปี พ.ศ. 2566 โดยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) อยู่ที่ร้อยละ 23 ต่อปี ขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยด้านบริการข้อมูล ESG ของบริษัทนอกตลาด (Private Markets) รวมถึง SMEs จะมีตัวเลขสูงถึงร้อยละ 42 ต่อปี ในช่วงเดียวกัน (ข้อมูลจาก: https://www.opimas.com/research/898/detail/)
สุดท้ายนี้จึงตอบคำถามได้ว่า “ทำไม ESG Profile จึงสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs” นั่นก็เพราะ ESG Profile พัฒนามาเป็นแค็ตตาล็อกทางธุรกิจอันทรงคุณค่าของกิจการ ที่ทำให้คู่ค้า/ลูกค้า รู้ว่าองค์กรของเรามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
อีกทั้งยังสามารถสร้างเป็นจุดขาย และการต่อยอดธุรกิจ ด้วยการค้นหาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ในเชิง ESG การแปลงจุดด้อยของผลิตภัณฑ์ให้เป็นโอกาสทาง ESG และการค้นหาตลาดใหม่จากการสำรวจความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในกลุ่มต่างๆ ของกิจการได้ต่อไป