Home » ทิศทาง ESG ปี 2024 : Who cares earns

ทิศทาง ESG ปี 2024 : Who cares earns

411 views

บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

“ยิ่งใส่ใจ ยิ่งได้รับ” จะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับกิจการที่เห็นประโยชน์เป็นรูปธรรม ต่อการใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายบังคับ

นับตั้งแต่คำว่า ESG ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2004 โดยปรากฏอยู่ในเอกสารรายงานชื่อ “Who cares wins” (ผู้ใดใส่ใจ ผู้นั้นมีชัย) ที่สนับสนุนแนวคิดของการบูรณาการปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในตลาดทุน ซึ่งเชื่อกันว่า ไม่เพียงนำไปสู่ผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตัวตลาดทุนเอง ด้วยการทำให้ตลาดทุนมีความยั่งยืนมากขึ้น

รายงานฉบับนี้ เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการที่ นายโคฟี อันนัน ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้เขียนจดหมายถึงบรรดา CEO ของสถาบันการเงินชั้นนำ 55 แห่ง เพื่อให้ช่วยหาวิธีในการผนวกเรื่อง ESG เข้ากับตลาดทุน ฉะนั้น ต้นเรื่องของแนวคิด ESG จึงมาจากผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน

โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญขณะนั้น คือ การผลักดันการผนวกเรื่อง ESG ผ่านบริษัทที่ลงทุน (Investees) ซึ่งคือ บรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนทั่วโลก โดยหากบริษัทที่ลงทุนไม่สนใจหรือไม่ขานรับเรื่อง ESG ไปดำเนินการ ผู้ลงทุนอาจจะมีมาตรการในระดับขั้นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การลดน้ำหนักการลงทุน การลดการถือครอง ไปจนถึงการขายหลักทรัพย์ออกจากพอร์ตการลงทุน

จึงเป็นเหตุให้บริษัทจดทะเบียน ขยับตัวรับเรื่อง ESG มาดำเนินการ และต่อมาได้นำเอา ESG มาเป็นคำที่ใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง นอกเหนือจากที่ใช้สื่อสารกับผู้ลงทุนที่เป็นต้นเรื่อง

พัฒนาการของ ESG ในห้วงเวลา 20 ปี ตั้งแต่การจัดทำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบโดยการสนับสนุนของสหประชาชาติ (United Nations-supported Principles for Responsible Investment: PRI) ในปี ค.ศ. 2006 มาจนถึงมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนฉบับล่าสุดที่ประกาศใช้โดยคณะกรรมาธิการยุโรป ที่มีชื่อว่า ESRS (European Sustainability Reporting Standards) ในปี ค.ศ. 2023 ที่ทำให้การเปิดเผยข้อมูล ESG ได้กลายเป็นข้อกำหนดสำหรับบริษัทที่มีถิ่นฐานในสหภาพยุโรป รวมทั้งสาขาของบริษัทนอกสหภาพยุโรปที่มีการดำเนินกิจการในสหภาพยุโรปซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ด้วย

นอกจากหลักการและมาตรฐานที่เป็นเรื่อง ESG โดยตรง ประเทศต่างๆ ยังมีการออกกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ESG ในทางใดทางหนึ่ง อาทิ กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งนำร่องกับสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน

โดยต้องเริ่มแจ้งปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้าที่นำเข้า นับจากปี ค.ศ. 2023 และจะต้องสำแดงใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2026 หรือการออกข้อบังคับว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ซึ่งจะใช้กับโภคภัณฑ์ในกลุ่มปศุสัตว์ ไม้ โกโก้ ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม กาแฟ ยางพารา และผลิตภัณฑ์สืบเนื่อง เช่น เครื่องหนัง ช็อกโกแลต ยางรถยนต์ หรือเครื่องเรือน โดยจะมีผลตั้งแต่สิ้นปี ค.ศ. 2024 เป็นต้น

ในประเทศไทย คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ได้ออกประกาศให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยข้อมูล ESG ในแบบแสดงรายการข้อมูล 56-1 One Report จัดส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022 เป็นต้นมา

เนื่องจาก ESG ถูกริเริ่มขึ้นจากภาคตลาดทุน หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินงาน ESG ของกิจการ จะต้องมีความเชื่อมโยงกับผลประกอบการ และสะท้อนอยู่ในผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ

จากมุมมองเดิมต่อเรื่อง ESG ที่กิจการส่วนใหญ่ เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยง มาสู่การใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจสำหรับรองรับโอกาสที่เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่หลายกิจการเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทั้งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และความสามารถในการทำกำไร (Profitability) จากการใช้ประโยชน์ในประเด็นด้าน ESG ที่สอดคล้องกับบริบทของกิจการ

ทิศทาง ESG ในปี ค.ศ. 2024 จะเป็นการเดินหน้าดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สำหรับกิจการที่เห็นประโยชน์เป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายบังคับ ซึ่งเมื่อเห็นผลลัพธ์ที่ดี ก็จะเกิดความเชื่อมั่น และผลักดันการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นผลกระทบที่ดีทั้งกับกิจการและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักกับการลงทุนที่ยั่งยืน ในลักษณะ “Who cares earns” (ยิ่งใส่ใจ ยิ่งได้รับ)

นั่นหมายถึง กิจการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ย่อมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในหลายระดับ คือ

  • ระดับแรก สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ‘ได้รับ’ ประโยชน์จากการที่ธุรกิจใส่ใจดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ
  • ระดับต่อมา กิจการจะมีโอกาส ‘ได้รับ’ รายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น จากการใช้ประเด็น ESG สร้างการเติบโตและเพิ่มผลิตภาพ
  • ระดับท้ายสุด ผู้ลงทุนควรจะ ‘ได้รับ’ ผลตอบแทนทั้งกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain) และเงินปันผลที่สูงขึ้นจากการลงทุนในกิจการที่ ‘ใส่ใจ’ เรื่อง ESG

ต้องติดตามกันว่า ในปี ค.ศ. 2024 จะมีกิจการใดที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง แล้วทำให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับประโยชน์จากกิจการ และผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนได้มากน้อยเพียงใด

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

130,443

130,443

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด