Home » ธรรมาภิบาล+จริยธรรมทางธุรกิจ = รากฐานแห่งความยั่งยืน

ธรรมาภิบาล+จริยธรรมทางธุรกิจ = รากฐานแห่งความยั่งยืน

143 views

บทความโดย ดร.เอื้อมพร ปัญญาใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน)

หากต้องการสร้างรากฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ผู้บริหารควรเริ่มจากจริยธรรมทางธุรกิจ และหลักจรรยาบรรณ โดยใช้ธรรมาภิบาลเป็นเครื่องมือในการบริหาร

ต้องยอมรับว่าในรอบปีที่ผ่านมาความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนทั่วไปที่มีต่อตลาดทุนลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีกรณีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัททั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กมีประเด็นความผิดพลาดตั้งแต่ระดับการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ไปจนถึงรุนแรงระดับการทุจริตในองค์กร ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งในรูปของตัวเงินและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

กรณีที่เกิดเหล่านี้ไม่ว่าความรุนแรงจะอยู่ในระดับไหนย่อมกัดกร่อนความไว้วางใจของผู้ถือหุ้นและบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของสาธารณชนในภาคธุรกิจทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านั้นกรณีเหล่านี้ยังก่อให้เกิดความสงสัยในความน่าเชื่อถือของหน่วยงานตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นผู้สอบบัญชี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) รวมไปถึงหน่วยงานจัดอันดับ หรือหน่วยงานประเมินต่างๆ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทชั้นดี มีศักยภาพในการเติบโต การกำกับดูแลกิจการและระบบธรรมาภิบาลเป็นเลิศ ซึ่งก่อให้เกิดประเด็นคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับระบบกำกับดูแลกิจการ เราจะยังเชื่อถือดัชนีต่างๆ เหล่านี้ได้แค่ไหน

อะไรสำคัญไม่น้อยไปกว่า Governance
ประเด็นที่ต้องกลับมาพิจารณากันอีกครั้ง คือ เรื่องการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) ซึ่งจะว่าไปแล้วเปรียบเสมือนปลายทาง การประเมินระบบการกำกับดูแลกิจการส่วนใหญ่ที่หลายสำนักประเมินกัน จะอ้างอิงจากเอกสารรายงานที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผย

แต่หากพิจารณารากฐานของการกำกับดูแลที่ดี ควรจะมีรากฐานมาจากจริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethics) และหลักจรรยาบรรณ (Code of Conduct) เป็นรากฐานของการกำกับดูแลที่ดี ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่วางรากฐานเหล่านี้ คือ ผู้ก่อตั้งบริษัท คณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกทุนนิยม ที่การแข่งขันทางด้านธุรกิจรุนแรง รวดเร็ว การวัดขีดความสามารถขององค์กร เรามักจะมองไปที่ผู้บริหารสูงสุดว่ามีวิสัยทัศน์อย่างไร มีความครบเครื่องในเชิงกลยุทธ์แค่ไหน รวมถึงประเด็นเรื่องเครือข่ายความสัมพันธ์ หรือที่เรียกว่า Connection เป็นปัจจัยที่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

จะว่าไปแล้วความท้าทายเหล่านี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความถูกต้อง ชอบธรรม เป็นธรรม และจริยธรรม เลือนหายไปในบางกรณี โดยอาจจะมีข้ออ้างทางด้านการแข่งขัน และความอยู่รอด 

“จริยธรรม-จรรยาบรรณ” คือ หลักปฏิบัติขั้นพื้นฐาน
หากเปรียบเทียบกับการดำรงชีวิตของพุทธศาสนิกชนคือ ศีล 5 โดยที่ศีล 5 นั้นถือเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่สุด ศีล คือ “เจตนา” หรือ ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากการทำบาปทั้งหลาย หากถามพุทธศาสนิกชนหลายๆ คน อาจพบว่าการถือศีล 5 ไม่ยาก แต่มีคนจำนวนไม่น้อยจะบอกว่า การรักษาศีล เป็นเรื่องยากมากด้วยเหตุความจำเป็นต่างๆ

ในการดำเนินธุรกิจก็เช่นกัน พื้นฐานการดำเนินธุรกิจคือ การมีจริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethics) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเข็มทิศทางศีลธรรมให้กับองค์กร ชี้นำการตัดสินใจโดยยึดหลักความซื่อสัตย์ และความยุติธรรม ในขณะที่หลักจรรยาบรรณ (Code of Conduct) จะนำหลักจริยธรรมเหล่านี้ไปปฏิบัติให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับพนักงานและฝ่ายบริหาร เพื่อให้มั่นใจว่าพฤติกรรมสอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรม

ในขณะที่รายงานการกำกับดูแลกิจการ (CG) จะเป็นเครื่องมือที่ให้ฝ่ายบริหารและกรรมการรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตนเอง ซึ่งต้องมีการเปิดเผยอย่างโปร่งใสต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีมุมมองในการกำกับดูแล

การกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ เป็นรากฐานในการสร้างความไว้วางใจ ความโปร่งใส และมูลค่าในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนไทยที่ล้มเหลวในการกำกับดูแลได้เน้นย้ำถึงประเด็นที่สำคัญและผลที่ตามมาจากการละเลย

ความล้มเหลวเกิดจากอะไร?
ความล้มเหลวเหล่านี้มักเกิดจากปัจจัยหลายประการรวมกัน เช่น

  • การกำกับดูแลที่อ่อนแอ อาจเกิดจาก โครงสร้างการกำกับดูแลไม่มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการไม่มีความอิสระเพียงพอ หรือขาดการกำกับดูแลที่เหมาะสม
  • สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่หละหลวม กรอบการกำกับดูแลหรือการบังคับใช้ที่ไม่เพียงพอซึ่งไม่สามารถให้ผู้บริหารรับผิดชอบต่อการกระทำของตนได้
  • ขาดความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินหรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ไม่เพียงพอ ซึ่งบดบังสุขภาพขององค์กรอย่างแท้จริง
  • การพึ่งพาความสำเร็จหรือการให้คะแนนในอดีตมากเกินไป โดยไม่มีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องต่อแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแล
  • แรงกดดันเพื่อผลประกอบการระยะสั้น แรงจูงใจในการทำกำไรในระยะสั้นอยู่เหนือเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งกระทบต่อมาตรฐานทางจริยธรรม

ขอบเขตของจริยธรรมทางธุรกิจ ในบริบทแบบไทยๆ ต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจการค้ายังพึ่งพา หรือได้รับอิทธิพลจากความสัมพันธ์ส่วนตัวและเครือข่าย เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มจากธุรกิจครอบครัว เจ้าของและผู้บริหารคือสมาชิกในครอบครัว การตั้งต้นทำธุรกิจเริ่มจากการทำธุรกิจกับคนใกล้ชิด การตลาดแบบบอกต่อก็เช่นกัน ส่วนใหญ่เครือข่ายความสัมพันธ์เกิดจากการแนะนำ อ้างอิงกันไปมา เกิดการช่วยเหลือระหว่างกัน เป็นพันธมิตรกันทางการค้า ดังนั้นความท้าทายคือ ทำอย่างไรที่จะสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ มีความร่วมมือทางการค้าอย่างรับผิดชอบ

คอนเนคชั่นที่ดี มีความรับผิดชอบ จะช่วยส่งเสริมธุรกิจของคุณ
คงเคยได้คำยินคำพูดที่ว่า “Know who” สำคัญไม่น้อยไปกว่า “Know How”  เพราะเครือข่ายความร่วมมือเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตและนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากคอนเนคชั่นเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพโดยยังคงรักษามาตรฐานทางจริยธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จในระยะยาว

เรามาเจาะลึกว่า ทำไมคอนเนคชั่นหรือการเชื่อมต่อทางธุรกิจจึงมีความสำคัญ? และวิธีที่คุณสามารถใช้ประโยชน์จากคอนเนคชั่นเหล่านั้นอย่างมีความรับผิดชอบโดยไม่ข้ามเส้นด้านจริยธรรมต้องทำอย่างไร?

ทำไมคอนเนคชั่นจึงมีความสำคัญทางธุรกิจ?

  • โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ การสร้างคอนเนคชั่นเป็นปัจจัยที่ช่วยเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าจะผ่านทางการเป็นหุ้นส่วน การลงทุน หรือข้อมูลเชิงลึกด้านตลาด การรู้จักและมีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการรายอื่น หรือแม้แต่คู่แข่ง คอนเนคชั่นเหล่านี้สามารถให้ข้อมูลและมุมมองอันมีค่าที่ช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูล
  • ความน่าเชื่อถือและเป็นที่รู้จัก: การสร้างความสัมพันธ์กับธุรกิจหรือผู้มีชื่อเสียง จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของคุณได้ เมื่อคุณเชื่อมโยงกับบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับในสาขาของคุณ คุณย่อมจะได้รับชื่อเสียงหรือประโยชน์จากการรับรองหรือการเป็นเครือข่ายของเขา
  • การแบ่งปันทรัพยากร: การทำงานร่วมกับธุรกิจอื่นทำให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นความรู้ เทคโนโลยี หรือทรัพยากรมนุษย์ สิ่งนี้สามารถนำไปสู่โซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้นและสามารถช่วยให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การสนับสนุน: เครือข่ายที่แข็งแกร่งมีระบบสนับสนุนจากการให้คำปรึกษาไปจนถึงคำแนะนำในการเผชิญกับความท้าทาย คนรู้จักของคุณสามารถให้คำแนะนำที่ช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดทั่วไปและคว้าโอกาสใหม่ๆ

ใช้ประโยชน์จากคอนเนคชั่นอย่างเหมาะสมและมีความรับผิดชอบ
แม้ว่าคอนเนคชั่นจะมีประโยชน์ของการเชื่อมต่อทางธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ ขอบเขตของการใช้คอนเนคชั่นด้วยความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และไม่เสี่ยงต่อกฎระเบียบทางด้านกฎหมาย รวมไปถึงประเด็นทางด้านจริยธรรม

สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ความโปร่งใส หากคุณกำลังมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ ให้สื่อสารเป้าหมายของคุณอย่างจริงใจ ชัดเจน และอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วม ซึ่งต้องรวมถึงประโยชน์ในภาพรวมของสังคมและเศรษฐกิจด้วย

เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจและเคารพขอบเขตของกันและกัน อย่ากดดันให้พวกเขาให้ความช่วยเหลือหรือเข้าถึงสิ่งที่พวกเขาไม่สบายใจ การเคารพซึ่งกันและกันส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพและมีประสิทธิผลขององค์กรมากขึ้น

หลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คำนึงถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น ตรวจสอบให้แน่ใจว่าความร่วมมือของคุณ ไม่กระทบต่อมาตรฐานทางจริยธรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือทำให้คุณอยู่ในตำแหน่งที่คุณกำลังตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจของคุณ

มุ่งเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงมากกว่าความสัมพันธ์แบบการทำธุรกรรม ลงทุนเวลาในการทำความเข้าใจและสนับสนุนการเชื่อมต่อของคุณ การเชื่อมโยงอย่างแท้จริงมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความร่วมมือที่มีความหมายและยั่งยืน

และประการสุดท้าย การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ตรวจสอบให้แน่ใจว่ากิจกรรมเครือข่ายทั้งหมดของคุณเป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องรับมือกับความสัมพันธ์ทางการเงิน ให้คำนึงถึงกฎหมายต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต รักษาแนวทางปฏิบัติของคุณให้โปร่งใสและสอดคล้องกับข้อกำหนดทางกฎหมายเสมอ

แม้ว่า คอนเนคชั่นทางธุรกิจจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการเติบโตและนวัตกรรม แต่สาระสำคัญที่ผู้บริหารต้องคำนึงถึง คือ การใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบ ด้วยความเคารพต่อมาตรฐานทางจริยธรรม ตลอดจนหลักการความโปร่งใสมีการสื่อสารที่ชัดเจน คุณสามารถสร้างเครือข่ายที่ไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนธุรกิจของคุณไปข้างหน้า แต่ยังส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเชิงบวกและมีจริยธรรมอีกด้วย

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

N/A

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด