Home » ผลสำรวจพบอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยโตต่อเนื่องไปถึงปี 2568

ผลสำรวจพบอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยโตต่อเนื่องไปถึงปี 2568

โดย กองบรรณาธิการ
743 views

ผลสำรวจอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย พบว่ามีแนวโน้นเติบโตต่อเนื่องจนถึงปี 2568 โดยบริการดิจิทัล หรือ Digital Services มีอัตราการเติบโตสูงสุดถึงราว 22% ในปี 2566 ทั้งนี้การสำรวจประมาณการไว้ถึงปี 2568 เท่านั้น

เมื่อเดือนกันยายน 2566 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ สถาบันไอเอ็มซี เผยผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ประจำปี 2565 และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2566 ระบุภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2565 เติบโต 14% มีมูลค่ารวม 2,614,109 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มต่างๆ เติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 21% มีมูลค่า 281,515 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่เติบโต 19% มีมูลค่า 190,766 ล้านบาท อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ เติบโต 18% มีมูลค่า 1,431,980 ล้านบาท พร้อมคาดการณ์โตต่อเนื่องถึงปี 2568

ผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ประจำปี 2565 ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (Digital Services) อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และอุตสาหกรรมสื่อสาร (Telecommunication)

แนวโน้มโตต่อเนื่อง 3 ปี

ผลสำรวจซึ่งได้ทำการคาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมดิจิทัล ในช่วงปี 2566-2568 พบว่า อุตสาหกรรมทุกประเภทมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏในภาพด้านล่าง

มูลค่าซอฟต์แวร์โต 19%  

ภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 190,766 ล้านบาท เติบโต 19% ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 2,453 ล้านบาท เติบโต 9% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 49,568 ล้านบาท เติบโต 23% จากการสำรวจฐานข้อมูล 13,013 บริษัท

สำหรับมูลค่าซอฟต์แวร์มีมูลค่ารวม 78,043 ล้านบาท เติบโต 18% แบ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในเครื่อง (On-premise) มูลค่า 47,549 ล้านบาท และซอฟต์แวร์เช่าใช้ (Cloud/SaaS) มูลค่า 30,494 ล้านบาท

ส่วนบริการซอฟต์แวร์ที่ประกอบด้วย 4 ประเภท คือ ผู้ติดตั้งระบบ (System Integrator) ประเภทบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ (Software Maintenance) ประเภทปรับแต่งซอฟต์แวร์ (Software Customization) และประเภทฝึกอบรมและที่ปรึกษา (Consult/Training) มีมูลค่ารวม 112,723 ล้านบาท เติบโต 19% โดยประเภทปรับแต่งซอฟต์แวร์มีมูลค่าสูงที่สุด คือ 33,802 ล้านบาท รองลงมาเป็นประเภทบำรุงรักษาซอฟต์แวร์มีมูลค่า 31,073 ล้านบาท และประเภทผู้ติดตั้งระบบมีมูลค่า 27,090 ล้านบาท

ด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ มีจำนวน 144,672 คน เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2564 ที่มีจำนวน 138,917 คน

จากผลการสำรวจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ พบข้อมูลสำคัญ ดังนี้

  1. รายได้ของอุตสาหกรรมมากกว่า 75% กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป
  2. ปัจจัยในการเติบโตเป็นเพราะเข้าสู่ช่วงแรกของการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังโควิด
  3. บุคลากรมีจำนวนเพิ่มขึ้น 4%

ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะขยายตัว 19%

ปี 2565 อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งแบ่งตามสินค้าและอุปกรณ์ 6 ประเภท ได้แก่ คอมพิวเตอร์ (Computer) อุปกรณ์ต่อพ่วง (Peripheral) เครื่องพิมพ์ (Printer) อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage) อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) และ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robot and Automation) มีมูลค่า 1,431,980 ล้านบาท เติบโต 18% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้า 438,508 ล้านบาท เติบโต 13% มูลค่าส่งออก 993,472 ล้านบาท เติบโต 19%

โดยประเภทของสินค้าและอุปกรณ์ที่มีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นคือ อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) และหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robot and Automation) มีมูลค่ารวมของทั้งสองอุตสาหกรรมอยู่ที่ 419,989 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อุปกรณ์อัจฉริยะเริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนไทยในสังคมดิจิทัลมากขึ้น

ด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ปี 2565 จาก 9,848 บริษัท มีจำนวน 324,760 คน เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2564 ที่มีจำนวน 311,051 คน

จากผลการสำรวจอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ พบข้อมูลสำคัญ ดังนี้

  1. การแบ่งหมวดธุรกิจเป็นหมวดการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดการผลิตคอมพิวเตอร์ แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการอาจจดทะเบียนสลับหมวดกันได้ เช่น ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟรายใหญ่ จดทะเบียนในหมวดผลิตขิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น แม้ผลประกอบการของบริษัทจะเติบโตสูงมาก แต่รายได้ของหมวดการผลิตคอมพิวเตอร์กลับลดลง 12%
  2. มูลค่าตลาดในแต่ละหมวดธุรกิจ กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่หมวดละประมาณ 5 บริษัทครองส่วนแบ่งรายได้รวมกันเกิน 70%
  3. ทุกปีมีบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ซึ่งปี 2565 มีจำนวน 9,848 บริษัท แต่บริษัทที่ยังดำเนินการจริงมีประมาณ 2,000 บริษัท ทั้งนี้เป็นไปได้ว่า บริษัทจำนวนมากจดทะเบียนทิ้งไว้ แต่อาจไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว

บริการด้านดิจิทัลโตสูงสุด

อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลปี 2565 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 281,515 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2564 ถึง 21% โดยอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ดังภาพประกอบด้านล่าง

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า อุตสาหกรรม Health Tech แม้จะยังมีมูลค่าไม่สูง แต่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ตอบรับเมกะเทรนด์ที่ผู้คนให้ความใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น

ส่วนบุคลากรอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลปี 2565 มีจำนวนรวม 73,782 คน โดยแบ่งจำนวนบุคลากรตามประเภทบริการดังภาพประกอบด้านล่าง

จากผลการสำรวจอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล พบข้อมูลสำคัญ ดังนี้

  1. บริการที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ e-Logistics รองลงมาเป็น e-Retail และ FinTech ตามลำดับ
  2. ปัจจัยในการเติบโตเป็นผลมาจากพฤติกรรมของคนมักใช้บริการทางดิจิทัล และเมื่อคุ้นเคยก็ยิ่งทำให้เกิดการใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ตามไปด้วย
  3. บุคลากรมีจำนวนลดลงราว 7% เป็นผลจากบริการ e-Logistics และ e-Retail มีการจ้างงานที่ลดลง

นอกจากนี้ยังได้ทำวัดมูลค่าอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งซ้ำซ้อนอยู่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ พบว่า ปี 2565 มีมูลค่า 25,471 ล้านบาท เติบโต 15% อีกทั้งยังได้ทำการสำรวจอุตสาหกรรมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พบว่า ปี 2565 มีมูลค่า 4,493 ล้านบาท เติบโต 25%


หมายเหตุ: การคาดการณ์การเติบโตอุตสาหกรรมดิจิทัลใน 3 ปีข้างหน้า

  • เป็นการคาดการณ์จากประมาณการณ์ GDP ของประเทศ และมูลค่าของอุตสาหกรรมที่ผ่าน บวกกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม
    • อุตสาหกรรมจะโตขึ้นอย่างมากเนื่องจากทุกภาคส่วนมุ่งเน้นการทำ Digital Transformation

เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI, IoT, Blockchain ตลอดจน Web 3.0 และ Quantum Computing จะมีส่วนกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเติบโตมากยิ่งขึ้น

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

206,509

206,509

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด