Home » ยาใหม่ “lepodisiran” ช่วยลดเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน

ยาใหม่ “lepodisiran” ช่วยลดเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน

โดย 2 Cents
146 views

ผู้เขียน: 2 Cents

อ่านข่าวนี้แล้วอยากแชร์… เป็นข่าวเกี่ยวกับยาตัวใหม่ชื่อ “lepodisiran” (เลโปดิสิแรน) พัฒนาโดย Eli Lilly ที่กำลังอยู่ในการทดลองขั้นที่ 2 ซึ่งผลออกมาดีมาก ลดระดับคอเลสเตอรอลบางชนิดได้ถึง 94%

ยานี้เขาพัฒนาขึ้นเพื่อลดระดับ lipoprotein (a) (Lp(a)) ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดหนึ่งที่แฝงตัวอยู่ในร่างกายและการตรวจเลือดปกติจะไม่พบ ต้องตรวจพิเศษเพื่อหาเจ้าตัวนี้เท่านั้น นอกจากนี้ยาลดคอเลสเตอรอลที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกายก็ไม่ค่อยมีผลในการลดเจ้า Lp(a) นี่ด้วย

เจ้า Lp(a) นี้มันเกาะติดกับ LDL ทำให้ถ้ามีมันมาก มีแนวโน้มที่จะทำให้หลอดเลือดอุดตันมากขึ้น นอกจากนี้มันยังสามารถทำให้เกิดการอักเสบและมักจะทำให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งทำให้คนที่มี Lp(a) สูงมีความเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง หรือ stroke มากขึ้น

บทความบอกว่า คนอเมริกันประมาณ 64 ล้านคนมี Lp(a) สูง ซึ่งคิดออกมาก็ประมาณเกือบ 20% ซึ่งโอกาสไม่ใช่น้อยๆ เลย

เราไปหาข้อมูลต่อพบว่า คนที่มี Lp(a) สูงจะมี calcium score สูงด้วย (ตรูรอดตัวเพราะที่ตรวจเมื่อปี 2022 CS เรายัง 0 อยู่)

====

จากการทดลองขั้นต้น เจ้ายา lepodisiran นี้ปลอดภัยในการใช้ และจากผลของการทดลองขั้นที่สองเขาพบว่า หลังจากรับยาไปหนึ่งครั้ง (เป็นการฉีดเข้าที่ผนังหน้าท้อง) ผู้รับยามี Lp(a) ลดลง 93.9% หลังจากผ่านไปหกเดือน และลดลง 88.5% หลังจากผ่านไปหนึ่งปี

สำหรับคนที่ได้รับเข็มที่ 2 หกเดือนหลังจากเข็มแรก มี Lp(a) ลดลง 94.8% หลังจากผ่านไปหนึ่งปี

วิธีการทำงานของ lepodisiran นั้นตรงไปตรงมา คือ มันไปบล็อคหรือทำลาย mRNA ที่บอกให้ร่างกายผลิต เจ้า Lp(a) นี่

ทั้งนี้ lepodisiran ไม่ใช่ยาตัวเดียวที่กำลังพัฒนา ยังมียาอีกตัวที่พัฒนาเพื่อใช้ในกรณีเดียวกันชื่อ Olpasiran ของ Amgen ที่ทดลองขั้นที่ 2 ตั้งแต่ปี 2023 และผลออกมาดีมากเช่นกัน คือ ยาสามารถลด Lp(a) ได้มากกว่า 95% หลังจากผ่านไป 36 อาทิตย์ (แต่รู้สึกว่าตัวนี้จะฉีดทุก 12 สัปดาห์)

Olpasiran ทำงานผ่าน mRNA เหมือนกัน แต่ต่างจาก lepodisiran คือ Olpasiran ไม่ได้ไปบล็อค mRNA ที่สั่งให้ร่างกายผลิต Lp(a) โดยตรง แต่มันลดการสร้าง Lp(a) โดยไปกระตุ้นให้เกิดการสลายตัวของ mRNA ที่สั่งให้ร่างกายสร้าง apolipoprotein ที่เป็นองค์ประกอบหลักของ Lp(a) เมื่อขาดองค์ประกอบหลักเจ้า Lp(a) ก็สร้างไม่ได้ คือมันลดการสร้าง Lp(a) แบบอ้อม ๆ

====

ถ้าใครสังเกตจะเห็นว่า ยาสองตัวนี้ชื่อลงท้ายคล้ายๆ กัน

นี่เป็นวิธีการตั้งชื่อยาโดยใช้วิธีการที่ยาทำงานเป็นหลักในการตั้งชื่อ ดังนั้นยาที่ใช้วิธีการเดียวกันจะมีชื่อลงท้ายเหมือนกัน

ในกรณีนี้ siran นั้นย่อมาจาก siRNA คือยาที่ทำงานโดยการไปขัดขวางหรือรบกวนการทำงานของ RNA (induce RNA interference)

หรือยา Alzheimer และมะเร็งที่หลายตัวจะชื่อลงท้ายด้วย mab ซึ่งมาจากการที่ยาใช้ monoclonal antibody ในการทำงาน

ยาที่มีชื่อลงท้ายด้วย nib จะเป็นยาที่ใช้กระบวนการยับยั้งโมเลกุลขนาดเล็ก (small molecule inhibitors) ในการทำงาน

====

แต่กว่ายาทั้งสองนี้จะออกมาใช้ได้จริงคงยังอีกนาน เพราะยังต้องผ่านการทดลองขั้นที่ 3 ซึ่งใช้เวลานานที่สุด นั่นคือการศึกษาถึงผลข้างเคียงระยะยาว แต่อย่างน้อยก็มีความหวัง

พวกที่บ้าข่าวลือต่อต้าน mRNA vaccine ต่อไปคงอยู่ยากแล้ว เพราะเรากำลังผ่านยุคยาเคมีไปสู่ยาชีวภาพ ยา/วัคซีน/วิธีการรักษาโรคในอนาคตส่วนมากเป็นทางชีวภาพซึ่ง mRNA จะเป็นตัวหลักตัวนึง

ไหนๆ ก็พูดเรื่อง วัคซีน mRNA ข่าวทั้งหลายที่บอกว่ามีการวิจัยยืนยันว่า วัคซีนโควิดที่เป็น mRNA ทำให้เกิดมะเร็งโน่นนี่นั่น ไม่เป็นความจริงนะคะ… ยืนยันค่ะว่า “ไม่เป็นความจริง” ถ้ามีงานวิจัยที่ยืนยันว่าเป็นจริงเราจะเป็นคนแรกๆ ที่เขียนถึงเลย

สิ่งที่เป็นความจริงอย่างเดียวตอนนี้คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อันนั้นจริง แต่ทุกยาและการรักษาล้วนมีผลข้างเคียง ไม่มียาหรือสิ่งไหนบนโลกที่เพอร์เฟค ทุกอย่างในชีวิตเราต้องเลือก จะตื่นเช้าไปทำงานเพื่อมีเงินใช้ หรือนอนสบายแต่ไม่มีกิน จะออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง หรือไม่ทำอะไรและป่วยบ่อยๆ ฉันใดฉันนั้น เราก็ต้องเลือกที่จะฉีดวัคซีนหรือเสี่ยงเป็นโรค

ในยุคที่คนเสพข่าวจากอินเทอร์เน็ต ที่ไม่รู้ว่าใครเขียน และเขียนเพื่ออะไร อ่านอะไรใช้วิจารณญานกันให้มากๆ นะคะ

ข่าวเต็มยาใหม่นี้อยู่ในลิงก์ข้างล่างนะคะ เผื่อใครสนใจ
https://www.nbcnews.com/health/health-news/one-dose-experimental-drug-nearly-wipes-stealthy-cholesterol-remarkabl-rcna198014?fbclid=IwY2xjawJa_K5leHRuA2FlbQIxMQABHaLQ4CBagq8NvqtvuBMiOxGN5mIvxRxb4yb1ri0CysuU2OZI5iegBQgsIQ_aem_bMw1bRznZeCS-59iuPpl9A

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

206,624

206,624

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด