Home » วัคซีน Shingrix ไม่เพียงป้องกันงูสวัด แต่ยังลดเสี่ยงสมองเสื่อม

วัคซีน Shingrix ไม่เพียงป้องกันงูสวัด แต่ยังลดเสี่ยงสมองเสื่อม

โดย 2 Cents
535 views

ผู้เขียน: 2 Cents

ผลวิจัยพบ วัคซีนป้องกันงูสวัด “Shingrix” ฉีดแล้ว รับผลพลอยได้คือ มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยลงถึง 20% อีกทั้งระบุอีกว่า ได้ผลดีในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อ่านบทความนี้แล้วอยากแชร์และชวนทุกคนไปฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัด (Shingles) กันนะคะ ที่อเมริกาเขาแนะนำให้คนที่อายุ 50 ขึ้นไปฉีด วัคซีนตัวใหม่จะฉีดสองเข็มและมีประสิทธิภาพกว่า 90% ตัวเก่าเป็นเข็มเดียวที่อเมริกาเลิกฉีดมาหลายปีแล้ว ไม่รู้ว่าที่ไทยยังมีรึเปล่า แต่ประสิทธิภาพจะต่ำกว่าคือ ประมาณ 50-60% เท่านั้น

บทความนี้เป็นการศึกษาผลของวัคซีนที่ไม่ใช่กับโรคงูสวัด แต่เป็นผลของวัคซีนที่มีต่อโรคสมองเสื่อม (Dementia) ที่ผลการศึกษาพบคือ คนที่ฉีดวัคซีนเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยกว่าคนที่ไม่ฉีด 20%

ในบทความนี้เป็นวัคซีนตัวเก่า คือ Zostavax ที่เป็นวัคซีนเชื้ออ่อนแรง เพราะเขาใช้ข้อมูลในการศึกษาตั้งแต่ปี 2013 วัคซีนตัวใหม่คือ Shingrix ที่เป็น Recombinant ยังไม่เริ่มใช้

แต่มีงานวิจัยที่ศึกษาคล้ายกันกับคนที่ฉีด Shingrix ออกมาเมื่อปีที่แล้วซึ่งผลคล้ายกัน เขายังระบุแน่นอนไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่อาจเป็นไปได้ว่าการที่วัคซีนไปหยุดยั้งไวรัสที่แฝงตัวอยู่กับเส้นประสาท ทำให้คนที่ได้รับวัคซีนสมองเสื่อมน้อยลง

หลายครั้งที่เราอ่านงานวิจัยแล้วในมุมมองของนักสถิติจะรู้สึกว่ายังคอนโทรลตัวแปลไม่หมด แต่อันนี้เป็นงานวิจัยที่ออกแบบดีทีเดียว ซึ่งน่าสนใจมาก

(บทความเต็มอยู่ในลิงก์นี้นะคะ เผื่อใครสนใจ https://med.stanford.edu/…/shingles-vaccination….)

=====

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าในทางเศรษฐศาสตร์หรือสถิติ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเปรียบเทียบสิ่งสองกลุ่มที่เหมือนกัน หรือที่เรียกว่า apple to apple บางทีเราจะเห็นคนพูดว่านี่มัน apple to orange ไม่ใช่ apple to apple นั่นคือมันคนละเรื่องกันเปรียบเทียบกันไม่ได้

แต่จะมีอะไรที่เหมือนกันหมด มันไม่มีหรอก ในทางสถิติก็จะใช้วิธี control ตัวแปรอื่น (ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ก็คือการ holding other things constant)

ในทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การเปรียบเทียบ apple to apple นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะมันมีปัจจัยอื่นที่มีผลเสมอ

เช่น การศึกษาถึงผลของวัคซีนโดยการเปรียบเทียบกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนกับไม่ฉีด ตัวอย่างในแต่ละกลุ่มอาจจะมีพฤติกรรมที่ต่างกันโดยพื้นฐานที่มีผลกับสุขภาพ เช่น คนที่ (แคร์พอที่จะ) ฉีดวัคซีนอาจจะเป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพ เป็นคนที่มีสุขอนามัย พฤติกรรมการกิน/นอน ดีกว่าคนที่ไม่ (แคร์ที่จะ) ฉีดวัคซีน หรือคนที่ฉีดวัคซีนส่วนมากอาจจะมีอายุมากกว่าคนที่ไม่ฉีดอะไรแบบนั่น ดังนั้นผลที่แตกต่างส่วนหนึ่งอาจจะมาจากพฤติกรรม หรืออายุที่ต่างกัน ไม่ใช่ผลของวัคซีนทั้งหมด

ในทางสถิติเราจะใช้วิธี control สิ่งพวกนี้ คือเลือกตัวอย่างที่เล็กลงที่มีพฤติกรรมพวกนี้คล้ายกัน หรือเพิ่มตัวแปรพวกนี้เข้าไปในโมเดลให้โมเดลเป็นตัวควบคุม

====

ในส่วนของงานวิจัยนี้เราชอบตรงที่เขาใช้นโยบายไม่ใช่สถิติเป็นตัว control ซึ่งเราว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจดี งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568

คือเมื่อวันที่ 1 กันยา ปี 2013 รัฐบาลของรัฐ Wales ในอังกฤษทำนโยบายให้คนสูงอายุใน Wales ฉีดวัคซีนงูสวัดตัวเก่าคือ Zostavax ที่เป็นวัคซีนแบบใช้เชื้อที่อ่อนแรง

แต่ด้วยความที่วัคซีนมีจำกัดไม่สามาถฉีดให้ผู้สูงอายุทุกคนได้เขาเลยเพิ่มข้อจำกัดว่าเฉพาะคนที่มีอายุน้อยกว่า 80 ปีถึงจะมีสิทธิ์ฉีดวัคซีนเป็นเวลาหนึ่งปี ส่วนคนที่อายุเกิน 80 ปี จะไม่มีสิทธิ์ (those born on or after 2 September 1933 were eligible for herpes zostet vaccination for at least 1 year, while those born earlier never become eligible) และทุกปีก็จะใช้เกณฑ์เดิมไปเรื่อยๆ (คือคนที่มีสิทธิ์ปีนี้ถ้าปีหน้าอายุเกิน 80 ก็จะไม่มีสิทธิ์)

นโยบายนี้ทำให้มีตัวอย่างสองกลุ่ม คือกลุ่มที่อายุเกือบ 80 และมีสิทธิ์ฉีดวัคซีนกับกลุ่มที่อายุเกิน 80 มานิดเดียวแต่ไม่มีสิทธิ์ฉีด ซึ่งคนวิจัยเขาถือว่าตรงนี้คือนโยบายแยกกลุ่มและ control ให้แล้ว ประกอบกับ Wales (เท่าที่เราอ่านมาคือ UK ทั้งหมด) มีระบบการเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่ดี ทำให้งานวิจัยนี้เกิดขึ้น

เขาทำการศึกษาถึงผลของวัคซีนกับโรคสมองเสื่อมโดยการใช้ข้อมูลสุขภาพของคนอายุ 71 ถึง 88 ปี ทั้งหมด 280,000 คน ที่ไม่มีอาการสมองเสื่อมในวันที่นโยบายนี้เริ่ม หลังจากนั้นเขาก็เลือกเฉพาะคนที่อายุน้อยกว่า 80 ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ กับคนที่อายุเกิน 80 ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์

นั่นหมายความว่าในกลุ่มตัวอย่างคือ คนที่อายุห่างกันเพียงสองสัปดาห์ ซึ่งการเลือกตัวอย่างแบบนี้ตัวอย่างที่ได้ควรจะ random พอที่จะไม่มี bias ในข้อมูลและมีการ control ปัจจัยการฉีดวัคซีนให้แล้ว

หลังจากนั้นเขาก็ตามดูข้อมูลสุขภาพของคนกลุ่มนี้ในช่วงเวลา 7 ปีหลังจากนโยบายฉีดวัคซีน โดยดูอัตราการฉีดวัคซีนประกอบด้วย ในกลุ่มคนที่มีสิทธิ์ฉีดวัคซีน ประมาณครึ่งหนึ่งฉีดในขณะที่กลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิ์ฉีดแทบจะไม่มีใครได้รับวัคซีนเลย

เขาดูตัวแปรอื่นในสองกลุ่มนี้ เช่น ประวัติการรักษาพยาบาล โรคที่เคยเป็น และการศึกษา ซึ่งสองกลุ่มนี้มีสิ่งเหล่านี้คล้ายกัน

ผลก็คือช่วง 7 ปีให้หลัง คนที่ได้รับวัคซีนเป็นงูสวัดน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนประมาณ 37% ในขณะที่โดยรวม ประมาณ 1 ใน 8 ของตัวอย่างทั้งหมด ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม แต่คนที่ได้รับวัคซีนงูสวัดมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยกว่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีนประมาณ 20% งานวิจัยยังระบุอีกว่าวัคซีนมีผลต่อการลดภาวะสมองเสื่อมในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่ากี่เปอร์เซ็นต์

====

เมื่อกลางปีที่แล้วเราอ่านงานวิจัยอีกอัน ที่ศึกษาถึงผลของวัคซีนงูสวัดตัวใหม่คือ Shingrix ซึ่งตีพิมพ์ในวาสารเดียวกันนี่แหละ

Shingrix เป็นวัคซีนประเภท recombinant (ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้เทคนิคทาง genetic engineering ผลิตโปรตีน antigen หรือ ส่วนหนึ่งของไวรัสและใช้พาหะคือไวรัสหรือแบคทีเรียที่ไม่อันตรายพาเข้าไปในร่างกาย ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิขึ้นมาต้านทานโปรตีนนี้ และเมื่อร่างกายเจอไวรัสที่มีโปรตีนนี้อยู่ที่ผิวก็จะทำลายไวรัส)

งานวิจัยนี้เขาศึกษาผลของวัคซีน Shingrix ที่มีต่อภาวะสมองเสื่อมเทียบกับ Zostavax และวัคซีนอีกสองตัวคือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีน Tdap (วัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน)

เขาศึกษาจากตัวอย่างคนอเมริกันที่ได้รับ Shingrix และ Zostavax อย่างละ 103,837 คนเท่ากัน ในช่วง 6 ปีหลังจากรับวัคซีน

ผลของงานวิจัยนี้แปลยากนิดนึงไม่ป๊ะๆ เหมือนอันข้างบน คือเขาพบว่าคนที่ได้รับ Shingrix มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยกว่าคนที่ได้รับ Zostavax อย่างมีนัยสำคัญ เขาใช้ประโยคว่ามีชีวิตอยู่โดยไม่ได้รับการวินิจฉัยนานขึ้น 17% (17% more time lived diagnosis-free or 164 additional diagnosis-free days among those affected เราอ่านก็ยังไม่เข้าใจซะทีเดียวว่าแปลว่าอะไร อาจจะภาษาทางการแพทย์เราเลยไม่เข้าใจ)

ยังไงก็ตาม นิทานเรื่องนี้บอกให้รู้ว่าใครที่อายุเกิน 50 ปี ฉีดวัคซีนงูสวัดกันนะคะ นอกจากจะได้รับการป้องกันจากโรคงูสวัดยังได้ของแถมคือมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยลงด้วย

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

206,630

206,630

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด