บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์
ในปี 2567 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มนำเอากระบวนการประเมินทวิสารัตถภาพที่เป็นไปตามมาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards) ซึ่งสภายุโรปประกาศให้มีผลใช้บังคับสำหรับการรายงานในรอบบัญชี ปี ค.ศ. 2024 เป็นต้นไป มาให้คำแนะนำปรึกษาแก่บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจในประเทศไทยที่ต้องการยกระดับการรายงานความยั่งยืนให้สอดรับกับมาตรฐานสากล
ปัจจุบัน ได้เริ่มมีกิจการที่สนใจนำเอากระบวนการประเมินทวิสารัตถภาพ และเครื่องมือการวิเคราะห์ทวิสารัตถภาพ (Double Materiality Analysis) ที่สถาบันไทยพัฒน์คิดค้นขึ้นเพื่อรองรับกระบวนการดังกล่าวไปใช้บ้างแล้ว
โดยการประเมินทวิสารัตถภาพ ประกอบด้วย การพิจารณาที่ผนวกการวิเคราะห์สารัตถภาพทางการเงินที่เป็นผลจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (แบบ Outside-in) เข้ากับการวิเคราะห์สารัตถภาพเชิงผลกระทบที่เกิดจากองค์กรทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (แบบ Inside-out)

อนึ่ง สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ทางการเงิน (Financial Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้น (Shareholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ ขณะที่สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ผลกระทบ (Impact Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนโดยรวม
ทั้งนี้ การตอบโจทย์ความยั่งยืนทั้งในส่วนของกิจการและความยั่งยืนของส่วนรวม เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านของความยั่งยืน ที่ต้องไปด้วยกัน ไม่สามารถละทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง หรือเพิกเฉยต่อประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญของอีกด้านหนึ่งได้
เพื่อเพิ่มช่องทางในการเรียนรู้กระบวนการประเมินทวิสารัตถภาพตามมาตรฐาน ESRS สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาเนื้อหาและวิธีการประเมินทวิสารัตถภาพเป็นเวิร์กชอป ระยะเวลาครึ่งวัน ทั้งในรูปแบบ In-House Program (จัดเฉพาะบุคลากรภายในองค์กร) และ Public Program (จัดรวมกับองค์กรอื่น) โดยองค์กรธุรกิจ หรือหน่วยงานที่สนใจ สามารถแสดงความจำนงรับบริการ Double Materiality Workshop ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป