Home » หมดยุค ทำกำไรก้อนโต โดยไม่คำนึงถึง “ความยั่งยืน”

หมดยุค ทำกำไรก้อนโต โดยไม่คำนึงถึง “ความยั่งยืน”

94 views

บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

ธุรกิจคุณจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องคิดถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และควรต้องยึดหลักคิดเกี่ยวกับความยั่งยืน พร้อมแนะ 2 วิธีพิจารณา คือ โลกกระทบเรา (Outside-in) อย่างไร และ เรากระทบโลก (Inside-out) แค่ไหน

อันที่จริง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในตลาด บริษัทนอกตลาด เป็นกิจการขนาดใหญ่ หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทั่งผู้ประกอบการรายย่อย ต่างก็ต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน จากพื้นฐานสุด คือ ทำอย่างไรให้กิจการอยู่รอด เติบโต และมีกำไร โดยสามารถคงสภาพนี้ต่อไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งคำสำคัญที่ว่า “.. คงสภาพนี้ต่อไปได้เรื่อย ๆ ..” นั่นคือ เรื่องความยั่งยืนที่เริ่มต้นจากความยั่งยืน “ของกิจการ”

เมื่อธุรกิจมีการดำเนินสืบเนื่องไป เจ้าของกิจการจะเริ่มตระหนักว่า การที่กิจการของตนจะยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องมองถึงประโยชน์หรือความคาดหวังของ “ผู้มีส่วนได้เสีย” (Stakeholders) ที่อยู่รายรอบกิจการด้วย มัวแต่นึกถึงเพียงทำกำไรให้ได้มาก ๆ ฝ่ายเดียวไม่ได้

ดังเช่น หากเราดูแล “ลูกค้า” ไม่ดี รายได้ที่หวังว่าจะโตก็อาจจะไม่ได้ เมื่อยอดขายไม่เข้า กำไรที่หวังว่าจะได้มากขึ้นก็ไม่มา ครั้นต้องวางแผนที่จะดูแลใส่ใจลูกค้า ลำพังเจ้าของกิจการก็ลงมือทำเองทั้งหมดไม่ได้ ต้องพึ่ง “พนักงาน” ให้มีการดำเนินการทั้งองคาพยพ และยังต้องเลยไปถึงการบริหาร “คู่ค้า” ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจ ทั้งในฝั่งต้นน้ำที่เป็นผู้ส่งมอบ กับในฝั่งปลายน้ำที่เป็นผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค

สำหรับกิจการที่มีหน่วยการผลิตเป็นโรงงานขนาดใหญ่ นอกจากการดูแลผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ส่งทอดไปถึงผู้มีส่วนได้เสียนอกห่วงโซ่ธุรกิจอีก อันได้แก่ “ชุมชน” ที่อาจได้รับมลภาวะ เช่น ฝุ่น กลิ่น เสียง จากการที่อยู่ใกล้แหล่งดำเนินงานของบริษัท หรือโรงงานมีการปล่อยของเสีย น้ำเสีย อากาศเสีย สู่ “สิ่งแวดล้อม” รอบข้าง จนกระทบต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชน

การดูแลใส่ใจผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ คือ การคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน “ของสังคมและสิ่งแวดล้อม” ที่ต้องมีควบคู่กับการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของตัวกิจการเอง เพราะหากชุมชนเดือดร้อนจากการประกอบการของกิจการ มีการร้องเรียน มีการเรียกร้องค่าเสียหาย มีการฟ้องร้องให้ระงับการดำเนินงาน กิจการก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่ม การประกอบการอาจสะดุดหยุดชะงัก ธุรกิจก็ดำเนินไปต่อไม่ได้อย่างราบรื่น

หรือกรณีที่คู่ค้าส่งมอบวัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพ มีการกระจายสินค้าล่าช้า ก็ย่อมส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ที่จะส่งมอบสู่ตลาด ทำให้สูญเสียลูกค้า เกิดความเสียหายทางธุรกิจติดตามมา ความยั่งยืนของกิจการจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดการดูแลเอาใจใส่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

สรุปความได้ว่า หลักคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนตามที่ควรจะเป็น ประกอบด้วย

ประการแรก จะเป็นการคำนึงถึงความยั่งยืนของกิจการ ที่จะทำอย่างไรให้กิจการอยู่รอด เติบโต และมีกำไรสูงสุด (Maximize Profit) ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มากระทบต่อการดำเนินธุรกิจและมีผลต่อบรรทัดสุดท้าย (กำไร) ของกิจการ เรียกว่า เป็นการพิจารณาปัจจัยความยั่งยืนแบบ Outside-in หรือ “โลกกระทบเรา” อย่างไร

ประการที่สอง จะเป็นจะเป็นการคำนึงถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ที่จะทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้เสียสนับสนุนการดำเนินงานของกิจการ และลดโอกาสที่จะก่อให้เกิดปัญหา ข้อพิพาท หรือข้อขัดแย้งระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด (Minimize Conflict) ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยภายในที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อหาทางป้องกัน บรรเทา หรือเยียวยา และหาหนทางที่จะสร้างส่งผลกระทบทางบวกส่งมอบสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมแทน เรียกว่า เป็นการพิจารณาปัจจัยความยั่งยืนแบบ Inside-out หรือ “เรากระทบโลก” อย่างไร

ในบทความต่อไปจะกล่าวถึง การเตรียมความพร้อมเพื่อทำให้องค์กรก้าวสู่ความยั่งยืนแบบ Step by step โปรดติดตาม

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

N/A

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด