Home » เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “การเลือกตั้งในอเมริกา”

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “การเลือกตั้งในอเมริกา”

โดย 2 Cents
132 views

คอลัมน์ เรื่องเล่าจากต่างแดน โดย 2 Cents

ก้าวเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเลือกหลายขั้นตอน โดยก่อนที่จะเลือกผู้นำประเทศ ปีนี้เริ่มจาก Super Tuesday ไปดูว่าเขาเลือกกันอย่างไร?

ใครที่ตามข่าวการเมืองที่นี่ อาจจะได้ยินว่าวันอังคารที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา คือ Super Tuesday แล้วมันคืออะไร?

Super Tuesday คือวันที่มีจำนวนรัฐทำการเลือกตั้งเบื้องต้น (primary election) มากที่สุดของปี

Primary election คืออะไร?
มันคือการเลือกตั้งเบื้องต้น ว่าใครจะเป็นตัวแทนพรรคลงเลือกตั้ง ประธานาธิบดี (ปธน.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่จะมาถึงในปีนี้ แต่ละรัฐก็จะมีวัน primary election แตกต่างกันไปเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ไปเรื่อยๆ จนถึงช่วง มิถุนายน ก็จะครบทุกรัฐ (รวมทั้งเปอโตริโก้ด้วย) หลังจากนั้นจะมี convention เพื่อลงคะแนนเลือกตัวแทนพรรคอีกที

วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา เป็น Super Tuesday ของปีนี้ โดยมี 16 รัฐ ที่มี primary วันนี้ ซึ่งมากที่สุดของปีแล้ว วันอื่นก็จะมีไม่กี่รัฐ ไม่เยอะขนาดนี้

คือระบบที่นี่ไม่เหมือนบ้านเรา มันจะวุ่นวาย สับสน มึนงง มาก (เชื่อว่าอเมริกันหลายคนก็ยังไม่เข้าใจ เราเองก็ไม่รู้ทุกอย่างแต่คิดว่าเข้าใจมากกว่าคนส่วนใหญ่ (เพราะมาทำงานตรงนี้)

การคัดเลือกผู้สมัครลงเลือกตั้งของที่นี่ไม่ได้มาจากคณะกรรมการพรรค หรืออะไรแบบนั้น แต่มาจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศเป็นคนเลือก

นั่นคือ คนที่จะลงเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แข่งกับโจ ไบเดนปลายปีนี้ จะมาจากผลการเลือกตั้งเบื้องต้น จากสมาชิกพรรคทั้งประเทศ คือเหมือนการเลือกตั้งจริงๆ เลย แต่เฉพาะสมาชิกพรรคถึงจะลงคะแนนได้ สมาชิกพรรคเดโมแครต ก็ลงคะแนน primary ของเดโมแครตสมาชิกพรรครีพับลิกัน ก็ลงของรีพับลิกัน

แต่สำหรับ ปธน. นั้น ที่ primary election เลือกนี่คือคนชนะจะได้ delegates นะคะ Delegate คือคนที่จะไปโหวตให้ผู้สมัครที่ convention ประจำปีของแต่ละพรรคอีกที คือเหมือนจำนวนโหวตที่ได้ แต่เป็นคนไปโหวตให้อีกที

แต่ละรัฐจะมีจำนวน delegates ไม่เท่ากันขึ้นกับจำนวนประชากร (รอบนี้เดโมแครตมี 3,900 delegates ส่วนรีพับลิกันมี 2,429 delegates )

การจะได้ delegate บางรัฐจะใช้อัตราส่วนของคะแนนที่ได้รับ เช่น รัฐ A มี 20 delegates ถ้านาย ก. ได้ 20% ของคะแนนเสียง ก็จะได้ 4 delegates นาย ข. ได้ 50% ของคะแนนเสียง ก็จะได้ 10 delegates นาย ค. ได้ 30% ของคะแนนเสียง ก็จะได้ 6 delegates

บางรัฐจะใช้ winner take all คือใครได้เสียงมากที่สุด ได้ delegates ของรัฐนั้นไปทั้งหมด

หลัง primary ของทุกรัฐแล้ว แต่ละพรรคจะมี convention ที่ delegates จะไปโหวตให้ผู้สมัครอีกที แต่นอกจาก delegates แล้ว เธอก็ยังมี super delegates อีก โดย super delegates จะโหวตให้ใครก็ได้

ใครได้จำนวน delegates มากที่สุด ปกติก็จะได้เป็นตัวแทน (เพราะส่วนมาก delegates เขาก็โหวตให้ตามคะแนนที่ได้) ถ้า super delegate ไม่โหวตให้คนอื่นแทน

ไม่เฉพาะแค่ผู้ลงสมัครประธานาธิบดี แต่นักการเมืองทุกระดับ ก็ต้องผ่าน  primary election (ก็คือวันเดียวกันนี่แหละ เลือกกันหมดทุกอย่างที่มี) ไม่ว่าจะเป็น สส. สว. ในรัฐ หรือ สส. สว. ของรัฐที่ไปเป็นตัวแทนอยู่ในวอชิงตัน ดี.ซี.

แต่กรณี อื่นที่ไม่ใช่ ปธน. จะใช้ผลเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งของ สส. สว. นั้นเท่านั้น (และคนที่มีสิทธิ์เลือกก็คือคนในเขตเลือกตั้งนั้นเท่านั้น) ไม่ใช่จากทั้งประเทศเป็นตัวตัดสิน ใครได้เสียงมากที่สุดก็ได้เป็นตัวแทนพรรคเลย ไม่ต้องผ่าน delegates

งงมั้ยเนี่ย 🤔🙄
บอกแล้วว่าระบบที่นี่มันยุ่งยาก วุ่นวายมาก
ไม่รู้ทำไมต้องทำให้วุ่นวายขนาดนี้ 😞

สรุปง่ายๆ คือจะเป็นตัวแทนพรรคลงชิง ปธน. ได้ ต้อง
1. ได้รับเลือกจาก primary vote โดยผู้สมัครจะได้จำนวน delegates ไม่ใช่ชนะเลือกตั้ง

2. หลังจากเลือกตั้งครบทุกรัฐแล้วแต่ละพรรคจะมี convention ที่ delegates กับ super delegates ลงคะแนนว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนพรรค

3. ปกติคนที่ได้ delegates มากสุด จะได้รับเลือก นอกจาก ได้ delegates  ไม่ขาดลอย และ super delegates เทคะแนนให้คนอื่น

จะเป็นธรรมเนียมของเขาถ้า ปธน. ปัจจุบันจะลงต่ออีกเทอมพรรคนั้นก็จะไม่สรรหาคนอื่นมาลง นั่นคือ ตัวแทนพรรคเดโมแครตคือไบเดนคนเดียว

ส่วนของรีพับลิกันจะรู้ก็หลังจาก primary เสร็จหมดทุกพรรคตอนมี convention ที่เป็นการลงคะแนนเลือกตัวแทนที่ชนะไปลงแข่งกับไบเดน แต่ตอนนี้ดูแล้วก็คงเป็นทรัมป์

อย่างที่เขียนไปแล้วว่าผู้ลงสมัครตัวจริงคือคนที่ได้คะแนนจาก delegates มากที่สุด ใน convention ที่จะมีกลางๆ ปี การเลือกตั้งจริงจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนั่นคือผู้สมัครแข่ง ปธน. จะมีเวลาหาเสียงจริงๆ จังๆ แค่ประมาณ 4 เดือนเท่านั้น

ที่นี่มีเลือกตั้งทุกปีนะคะ วันเลือกตั้งของที่นี่ คือวันอังคาร (เท่านั้น) เพราะเขามีรัฐบาลหลายระดับ และไม่ใช่เฉพาะตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ตำแหน่งทางราชการมากมายก็มาจากการเลือกตั้ง เช่น ผู้พิพากษา ดังนั้นเขามีตำแหน่งที่ต้องเลือกตั้งทุกปี แต่เลือกตั้งใหญ่จะมีทุก 4 ปี คือเลือกตั้ง ปธน. สส. ทั้งหมด สว. บางส่วน และปีที่ 2 ในช่วง 4 ปีนี้จะเป็นการเลือกตั้งใหญ่ลองลงมาเป็นลำดับสอง คือเลือก สส ทั้งหมดและ สว บางส่วน เขาเรียกว่า midterm election

นี่เป็นแค่ส่วนนึงเกี่ยวกับการเลือกตั้งของที่นี่ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก การเลือกตั้งผู้นำประเทศของอเมริกาต่างกับบ้านเรามากค่ะ แล้วเราจะมาเล่าเรื่องอื่นเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง การเมือง การปกครองของที่นี่ให้อ่านอีกนะคะ

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

N/A

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด