บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์
จากบทความครั้งที่ผ่านมา เราพูดกันถึง GCI (Guidance on Core Indicators for Sustainability and SDG Impact Reporting) ซึ่งเป็นชุดตัวชี้วัดที่ถูกจัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นจุดตั้งต้นหรือจุดนำเข้าในการรายงานผลการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อ SDG และถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลขั้นต่ำ (Minimum Disclosures) ของกิจการ
ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์
คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น
ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง
ในบทความนี้ จะพูดถึง 8 ตัววัดด้านเศรษฐกิจ ที่กิจการมีข้อมูล เพราะได้ดำเนินการอยู่แล้วในกระบวนการทางธุรกิจ และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัดอีกด้วย
ตัววัดด้านเศรษฐกิจทั้ง 8 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย
- ยอดรายได้ (Revenue) คือ การเพิ่มขึ้นของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในรอบระยะเวลาบัญชีในรูปของกระแสรับเข้าของสินทรัพย์ หรือการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ หรือการลดลงของหนี้สิน ซึ่งส่งผลให้ส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้น โดยไม่รวมถึงส่วนทุนที่ได้รับจากผู้มีส่วนร่วมในส่วนของเจ้าของ
- มูลค่าเพิ่ม (Value added) คือ ส่วนต่างระหว่างรายได้และต้นทุนค่าวัสดุ สินค้าและบริการ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ความมั่งคั่งที่กิจการสามารถสร้างและกระจายในหมู่ผู้มีส่วนได้เสีย (พนักงาน เจ้าหนี้ องค์การของรัฐ ผู้ถือหุ้น) โดยคำนวณจาก มูลค่าเศรษฐกิจทางตรง (ยอดรายได้ + รายได้อื่น) หักด้วยมูลค่าเศรษฐกิจที่จำหน่ายออก (ต้นทุนการดำเนินงาน + ค่าจ้างและสวัสดิการพนักงาน เงินที่ชำระแก่เจ้าของเงินทุน + เงินที่ชำระแก่รัฐ + การลงทุนในชุมชน)
- มูลค่าเพิ่มสุทธิ (Net value added) คือ ตัวเลขที่นำค่าเสื่อมราคา (Depreciation) มาหักออกจากมูลค่าเพิ่ม โดยจะหักเฉพาะค่าเสื่อมราคา ซึ่งคำนวณจากสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ มิได้นำค่าตัดจำหน่าย (Amortization) ซึ่งคำนวณจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิการเช่า ลิขสิทธิ์ มาหักออกด้วย
- ภาษีและเงินอื่นที่จ่ายให้แก่รัฐ (Taxes and other payments to the Government) คือ ยอดภาษี ที่รวมถึงภาษีเงินได้ ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ค่าปรับ ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าสิทธิ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จ่ายแก่รัฐ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเข้าครอบครองทรัพย์สินของรัฐ (เช่น การเข้าซื้อกิจการรัฐวิสาหกิจ) เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เกิดจากมาตรการลงโทษที่มิได้เกี่ยวกับการชำระภาษีอากร (เช่น การปล่อยมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม)
- การลงทุนสีเขียว (Green investment) คือ ยอดการลงทุนทางตรงและทางอ้อมด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของการป้องกัน การลด และการขจัดมลภาวะและการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ซึ่งหมายรวมถึง การผลิตพลังงานไฟฟ้าและยานพาหนะที่ใช้คาร์บอนต่ำ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การควบคุมมลพิษ การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ การจัดการของเสียและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของทรัพยากรใหม่หรือแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน (Waste of Energy) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นใดที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการลงทุนที่เป็นความจำเป็นด้านเทคนิคและเป็นไปตามข้อกำหนดภายในที่เกี่ยวกับสุขอนามัย ความปลอดภัย และความมั่นคงของกิจการ
- การลงทุนชุมชน (Community investment) คือ ยอดการบริจาคและการลงทุนในชุมชนแก่ผู้ได้รับประโยชน์กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ภายนอกกิจการ หมายรวมถึง การลงทุนในสิ่งปลูกสร้างที่อยู่นอกเหนือธุรกิจหลักของกิจการ (เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สำหรับแรงงานและครอบครัว) ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการลงทุนหรือธุรกรรมในเชิงพาณิชย์และที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีเจตจำนงที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการในทางธุรกิจ (เช่น การสร้างถนนหนทางเข้าสู่โรงงาน)
- ยอดรายจ่ายรวมในการวิจัยและพัฒนา (Total expenditures on research and development) คือ รายจ่ายด้านการวิจัยทั้งที่เป็นงานแรกเริ่มและงานตามแผนเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และความเข้าใจใหม่ในเชิงเทคนิคและเชิงวิทยาศาสตร์ (เรียกว่า รายจ่ายการวิจัย อาทิ รายจ่ายการทดลองเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ในการพัฒนาวัคซีนของกิจการในเภสัชอุตสาหกรรม) รวมถึงการประยุกต์ข้อค้นพบในการวิจัยหรือความรู้อื่นใดในการวางแผนและออกแบบซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ ระบบ หรือบริการ ก่อนเริ่มต้นผลิตหรือใช้ในเชิงพาณิชย์ (เรียกว่า รายจ่ายการพัฒนา อาทิ การออกแบบ การสร้าง และการทดลองตัวแบบรถยนต์ในขั้นตอนเตรียมการก่อนการผลิตของกิจการในอุตสาหกรรมยานยนต์)
- ร้อยละของการจัดหาท้องถิ่น (Percentage of local procurement) คือ สัดส่วนการใช้จ่ายที่มีต่อผู้ส่งมอบท้องถิ่นของกิจการ ที่แสดงถึงขอบเขตความเกี่ยวโยงของกิจการกับเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาควรระมัดระวังมิให้เกิดข้อกังขาในแง่ของการกีดกันทางการค้ากับผู้ส่งมอบต่างถิ่น และในทางกลับกัน ผู้ส่งมอบซึ่งมีแหล่งที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่น อาจเป็นผู้จัดหาสินค้าจากแหล่งภายนอกที่มิได้มาจากท้องถิ่น
ทั้ง 8 ตัววัดเศรษฐกิจข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 7 พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 7.b.1) เป้าที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 8.2.1) เป้าที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 9.3.1, 9.4.1, 9.5.1 และเป้าหมาย SDG ที่ 9.b) และเป้าที่ 17 การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 17.1.2 และ 17.17.1)
นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย
ในสัปดาห์ต่อไปจะกล่าวถึง ตัววัดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี 11 ข้อ โปรดติดตามกันต่อไป