Home » Step by step ขับดันองค์กรสู่ความยั่งยืน

Step by step ขับดันองค์กรสู่ความยั่งยืน

139 views

บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

ว่าด้วยวิธีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้องค์กรเดินสู่เส้นทางความยั่งยืน เหมาะกับธุรกิจทุกขนาด มี 4 ขั้นตอน เข้าใจ รู้ผลกระทบ ประเมิน และทำรายงาน

การวิเคราะห์ปัจจัยความยั่งยืนทั้งแบบ Outside-in และแบบ Inside-out ดังที่กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้ เป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวสู่องค์กรยั่งยืน ถึงขนาดว่า ในสหภาพยุโรป ได้มีการพัฒนาเครื่องมือสำหรับใช้ระบุประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ หรือเรียกว่ามีสารัตถภาพ (Materiality) ต่อการดำเนินการให้เหมาะสมตามบริบทของกิจการ

โดยธรรมชาติ แต่ละกิจการจะมีความพร้อมและทรัพยากรสำหรับใช้ดำเนินงานที่แตกต่างกัน ประกอบกับธุรกิจที่อยู่ต่างอุตสาหกรรม จะมีประเด็นความยั่งยืนที่ถูกให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน

ดังเช่น ธุรกิจการเงินจะมีประเด็นความยั่งยืนสำคัญที่ต้องพิจารณา ได้แก่ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ประเด็นสาระสำคัญสำหรับธุรกิจที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ที่ซึ่งการจัดการด้านพลังงาน น้ำ มลอากาศ และของเสีย จะเป็นประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญต่อการพิจารณามากกว่า

เครื่องมือการวิเคราะห์สารัตถภาพที่ถูกพัฒนาขึ้น คำนึงถึงการพิจารณาปัจจัยความยั่งยืนทั้งแบบ Outside-in โดยในตัวเครื่องมือเรียกว่า เป็นประเด็นสาระสำคัญเชิงการเงิน (Financial Materiality) และแบบ Inside-out ที่ในตัวเครื่องมือเรียกว่า เป็นประเด็นสาระสำคัญเชิงผลกระทบ (Impact Materiality)

ทั้งนี้ มิได้กำหนดให้กิจการต้องใช้ประเด็นสาระสำคัญชุดเดียวกันหรือเหมือนกันในทุกองค์กร แต่เป็นหน้าที่ของกิจการซึ่งจำเป็นต้องระบุให้ได้ว่าชุดปัจจัยความยั่งยืนใดที่เป็นประเด็นสาระสำคัญของกิจการตนเอง และครอบคลุมทั้งแบบ Outside-in และ Inside-out ซึ่งในตัวเครื่องมือ เรียกรวมกันว่า เป็นการประเมิน “ทวิสารัตถภาพ” (Double Materiality Assessment)

Step by step วิธีการประเมิน 4 ขั้นตอน

สำหรับขั้นตอนในการประเมินทวิสารัตถภาพ แบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ 1: เข้าใจบริบท

เป็นขั้นที่ทำให้กิจการเห็นภาพรวมของกิจกรรมและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการระบุผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยง

กิจกรรมและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

  • การวิเคราะห์แผนธุรกิจ กลยุทธ์ งบการเงิน และข้อมูลอื่น ๆ ที่จัดหาให้แก่ผู้ลงทุน (ถ้ามี)
  • กิจกรรม ผลิตภัณฑ์/บริการ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของกิจกรรมเหล่านั้น
  • การจัดผังความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับห่วงโซ่คุณค่าฝั่งต้นน้ำ และ/หรือฝั่งปลายน้ำ รวมทั้งชนิดและสภาพของความสัมพันธ์ทางธุรกิจดังกล่าว
  • การะบุขอบเขตของข้อมูลที่เปิดเผยในส่วนที่อยู่นอกพื้นที่ดำเนินงานที่กิจการเป็นเจ้าของ การขยายขอบเขตดังกล่าวเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยง ที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับห่วงโซ่คุณค่าฝั่งต้นน้ำ/ปลายน้ำ และ

ข้อมูลเชิงบริบทอื่นๆ

  • การวิเคราะห์ภูมิทัศน์ทางกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และ
  • การวิเคราะห์เอกสารเผยแพร่อื่น เช่น รายงานจากสื่อ การวิเคราะห์โดยคู่ค้า เกณฑ์เปรียบเทียบเฉพาะสาขาที่เป็นอยู่ สิ่งพิมพ์อื่นที่กล่าวถึงแนวโน้มใหญ่ด้านความยั่งยืน และบทความเชิงวิทยาศาสตร์

ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

  • การวิเคราะห์จากการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นอยู่ (อาทิ กลุ่มที่มีการสื่อสารกับฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ กับฝ่ายจัดการ กับฝ่ายขาย และทีมจัดหา)
  • การจัดผังผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ซึ่งเป็นไปได้ที่ผู้มีส่วนได้เสียบางกลุ่มจะถูกแยกระบุตามรายกิจกรรม รายผลิตภัณฑ์หรือบริการ และถูกให้น้ำหนักความสำคัญกับบางประเด็นความยั่งยืนโดยเฉพาะ และ
  • การนิยามช่วงของกระบวนการประเมินสารัตถภาพที่ซึ่งการสานสัมพันธ์จะมีขึ้น ตัวอย่างเช่น การสานสัมพันธ์สามารถใช้ตรวจสอบความใช้ได้ของรายการประเด็นสาระสำคัญที่ถูกระบุ หรือสามารถใช้เน้นหนักขนาดของความรุนแรง และระยะของช่วงเวลา (ระยะสั้น-กลาง-ยาว) ของผลกระทบ

ขั้นตอนที่ 2: ระบุผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยง ที่เกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืน ที่เกิดขึ้นและที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

เป็นขั้นที่กิจการทำการระบุผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยงที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตลอดทั่วทั้งองค์กรและในห่วงโซ่คุณค่าทั้งฝั่งต้นน้ำและฝั่งปลายน้ำ โดยผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นชุดรายการของผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยง สำหรับการประเมินและการวิเคราะห์ในขั้นต่อไปภายหลัง

แนวทางจากบนลงล่าง

กิจการสามารถเริ่มการระบุผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยง โดยพิจารณาจากรายการประเด็นด้าน ESG ตามเอกสารมาตรฐานที่ใช้อ้างอิง เช่น GRI (Global Reporting Initiative) จากนั้น ทำการเพิ่มเติมประเด็นที่จำเพาะต่อกิจการ (Entity-specific) ซึ่งได้มาจากกระบวนการภายในที่มีอยู่ (เช่น การตรวจสอบสถานะ การจัดการความเสี่ยง หรือกลไกการร้องทุกข์) หรือจากแหล่งภายนอก เช่น ข้อมูลเชิงบริบทอื่น ๆ และการสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสีย

แนวทางจากล่างขึ้นบน

กิจการสามารถเริ่มจากรายการผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยงที่ถูกระบุจากการทบทวนตัวแบบทางธุรกิจ กลยุทธ์องค์กร แหล่งดำเนินงานที่กิจการเป็นเจ้าของ และห่วงโซ่คุณค่าฝั่งต้นน้ำ/ปลายน้ำ รวมทั้งจากการวิจัยเพิ่มเติม โดยรายการเหล่านี้จะถูกเชื่อมโยงสู่ประเด็นสาระสำคัญซึ่งครอบคลุมผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยงดังกล่าว อาทิ กิจการที่มีการระบุเรื่องการเจรจาทางสังคม การร่วมเจรจาต่อรอง และเสรีภาพในการสมาคม ว่าไม่เป็นสาระสำคัญในระดับปัจเจก อาจประเมินให้ทั้งสามปัจจัยเหล่านี้รวมกัน เป็นประเด็นสาระสำคัญในสภาพการจ้าง

ขั้นตอนที่ 3: ประเมินและกำหนดผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืน ที่เป็นสาระสำคัญ

เป็นขั้นที่กิจการทำการประเมินสารัตถภาพเพื่อให้ได้ซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นรายการผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยงที่เป็นสาระสำคัญ สำหรับนำไปใช้เตรียมเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน

การประเมินสารัตถภาพเชิงผลกระทบ

กิจการพึงใช้เกณฑ์ที่มีขีดระดับ (Threshold) เชิงปริมาณ และ/หรือเชิงคุณภาพที่เหมาะสมในการประเมินสารัตถภาพของผลกระทบที่เกิดขึ้นและที่คาดว่าจะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความรุนแรง และสำหรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของภาวะน่าจะเป็น (Likelihood)

เกณฑ์สำหรับพิจารณาระดับความรุนแรง กิจการพึงใช้

  • ขนาด ขอบเขต และลักษณะที่ไม่สามารถฟื้นกลับดังเดิมได้ สำหรับการประเมินผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งการประมาณภาวะน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นร่วมด้วยการโยงเข้ากับช่วงเวลาที่เกี่ยวเนื่อง สำหรับการประเมินผลกระทบทางลบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
  • ขนาด ขอบเขต สำหรับการประเมินผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้น รวมทั้งการประมาณภาวะน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นร่วมด้วย สำหรับการประเมินผลกระทบทางบวกที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

การสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงคนงานและตัวแทนคนงาน) ในการประเมินสารัตถภาพ จะช่วยในการประเมิน การตรวจสอบความใช้ได้ และทำให้แน่ใจว่ารายการผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญที่ได้ในขั้นสุดท้ายมีความสมบูรณ์

การประเมินสารัตถภาพเชิงการเงิน

โอกาสและความเสี่ยงที่สำคัญของกิจการ มักมีที่มาจากผลกระทบหรือจากภาวะพึ่งพิง (Dependencies) กิจการพึงใช้เกณฑ์ที่มีขีดระดับเชิงปริมาณ และ/หรือเชิงคุณภาพที่เหมาะสมในการประเมินสารัตถภาพทางการเงินบนพื้นฐานของผลการดำเนินงาน สถานะทางการเงิน สภาพคล่อง การเข้าถึงแหล่งทุน และต้นทุนทางการเงินของแหล่งทุนที่ใช้ดำเนินงาน

กิจการพึงประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านความยั่งยืนบนพื้นฐานของภาวะน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้น และขนาดของผลทางการเงินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยนอกจากผลทางการเงินที่มีเหตุมาจากผลกระทบที่ถูกระบุตามรายการข้างต้นแล้ว กิจการพึงพิจารณาโอกาสและความเสี่ยงที่เกิดจากแหล่งอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะพึ่งพิง การเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบ หรือภัยจากสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ

กิจการอาจเทียบรายการโอกาสและความเสี่ยงสำคัญที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 กับที่ได้จากกระบวนการจัดการความเสี่ยงของกิจการ และประมาณภาวะน่าจะเป็นของการเกิดโอกาสและความเสี่ยงหรือที่อาจมีผลเกี่ยวข้องต่อด้านการเงิน ในกรณีที่เป็นความเสี่ยงด้านความยั่งยืน

การสานสัมพันธ์กับหน่วยงานในกิจการ อาจดำเนินการประเมิน ตรวจสอบความใช้ได้ และทำให้แน่ใจว่ารายการโอกาสและความเสี่ยงสำคัญมีความสมบูรณ์โดยร่วมกันกับผู้ลงทุนในกิจการและกับคู่ค้าที่เป็นสถาบันการเงิน (เช่น ธนาคาร)

เมื่อประเด็นที่ได้รับการประเมินว่ามีสาระสำคัญเชิงการเงิน (และนำไปสู่การรายงาน) กิจการพึงกำหนดเป็นข้อสนเทศที่ต้องรายงานตามสารัตถภาพนั้น การละเว้น การบิดเบือน หรือการเคลือบคลุมในข้อมูลดังกล่าว สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้ข้อมูลทางการเงินที่มีฐานมาจากรายงานแห่งความยั่งยืน ในกรณีที่ใช้เป็นข้อพิจารณาสำหรับการจัดหาทรัพยากรให้แก่กิจการ

การรวมผลลัพธ์ของมิติสารัตถภาพเชิงผลกระทบและเชิงการเงิน และการพิจารณาปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

วัตถุประสงค์ของขั้นตอนนี้ เพื่อที่จะนำผลลัพธ์ที่ได้ก่อนหน้ามารวมให้เป็นรายการผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยงที่เป็นสาระสำคัญ สำหรับใช้เป็นเกณฑ์ในการเตรียมข้อสนเทศในรายงานแห่งความยั่งยืน

เมื่อกิจการได้ประเมินผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยงในแต่ละรายการด้วยขีดระดับและระเบียบวิธีที่เหมาะสมแล้ว จะเข้าสู่การประมวลผลเพื่อการรายงาน โดยอาจมีการตรวจสอบความใช้ได้กับฝ่ายจัดการต่อผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ทวิสารัตถภาพ (เพื่อประเมินและตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายการผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยงที่เป็นสาระสำคัญ)

ขั้นตอนที่ 4: การรายงาน

เป็นขั้นที่กิจการนำการดำเนินการและผลลัพธ์จากกระบวนการประเมินทวิสารัตถภาพ มาดำเนินการรายงาน ซึ่งประกอบด้วย

  • คำอธิบายถึงกระบวนการที่ใช้ในการระบุและประเมินผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยงที่เป็นสาระสำคัญ
  • ผลกระทบ โอกาสและความเสี่ยงที่เป็นสาระสำคัญ และปฏิสัมพันธ์ที่มีระหว่างกลยุทธ์และตัวแบบทางธุรกิจ
  • รายงานแห่งความยั่งยืน และการเปิดเผยวิธีการกำหนดข้อสนเทศที่ต้องรายงาน รวมทั้งขีดระดับและเกณฑ์ที่ใช้ประเมินข้อสนเทศที่ต้องรายงาน

ทั้ง 4 ขั้นตอนดังกล่าว เป็นแนวทางที่จะช่วยให้องค์กรเริ่มต้น และดำเนินการด้านความยั่งยืนได้อย่างถูกวิธี ไม่สะเปะสะปะ ไม่หลงทาง โดยหลักการนี้เป็นวิธีการทางสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

You may also like

The-Perspective แหล่งรวมองค์ความรู้ มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดข่าวสารคาดการณ์อนาคต

Tel:  081-619-9494
Email:
editor@the-perspective.co
naiyanaone@gmail.com

Total Visit:

104,950

104,950

Editors' Picks

Latest Posts

The-Perspective © All Right Reserved.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติวิจัยทางด้านการตลาด การวิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนนำมาปรับปรุง และควบคุมการทำงานของเว็บไซต์ ทั้งนี้ หากท่านไม่ยินยอม ท่านยังสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ปกติ ยอมรับทั้งหมด