ช่วงที่กำลังจะสิ้นสุดปีนี้และเริ่มต้นปีใหม่ ก็มักจะมีการทำนายแนวโน้มแห่งปีเอาไว้ เพื่อให้นำแนวโน้มต่างๆ ไปประยุกต์ใช้หรือวางแผนอนาคตต่อไป
ในโอกาสนี้ คุณปฐม อินทโรดม กูรูแห่งแวดวงดิจิทัลเมืองไทยซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ The-perspective เกี่ยวกับเรื่องแนวโน้มด้านดิจิทัลแห่งปี 2567 โดยกล่าวว่า…
ภาพรวมของแนวโน้มสำหรับปี 2567 กล่าวได้ว่าเป็นปีที่มี AI เข้าไปแทรกอยู่ในทุกมิติ หรือเรียกได้ว่า “AI for Everything” แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องพิจารณากันให้ดีๆ ว่า ของชิ้นนั้นเป็นการทำงานของ AI จริงๆ หรือไม่ เพราะบางอุปกรณ์อาจจะถูกกล่าวอ้างว่าเป็น AI แต่จริงๆ แล้วในหลักการของการทำงานนั้นยังไม่เทียบเท่า AI ก็เป็นได้
คุณปฐม ได้คาดการณ์แนวโน้มที่จะบูมมากๆ ในปี 2567 ไว้ 5 ประการ ดังนี้
- AI Box
AI Box เป็นหน่วยประมวลผลเพิ่มประสิทธิภาพ หรือเรียกได้ว่าเป็น First Step AI ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ทำให้อุปกรณ์ใดๆ ที่เข้ามาต่อพ่วงด้วยแล้วจะมีความฉลาดมากขึ้น สามารถที่จะทำงานได้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะด้านการวิเคราะห์
ยกตัวอย่างเช่น การนำ AI Box ไปใช้ร่วมกับ CCTV ในร้านขายเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง จะทำให้ CCTV เป็นได้มากกว่าการมอนิเตอร์ หรือดูความเคลื่อนไหวต่างๆ ภายในร้าน โดยยังมีความสามารถอีกมากกมาย ได้แก่ นับจำนวนคนเข้าร้าน จัดทำสถิติของผู้คนที่ให้ความสนใจกับมุมต่างๆ หรือสินค้ารายการนั้นๆ ที่จัดโชว์เอาไว้ในมุมต่างๆ และมีความสามารถในการแจ้งเตือนเมื่อมีบุคคลภายนอกเข้าเขตหวงห้าม อีกทั้งยังสามารถแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุการณ์ขโมยทรัพย์สินต่างๆ ด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่งการนำ AI Box ไปใช้กับอุปกรณ์ IoT ด้านการเกษตร AI Box สามารถวิเคราะห์สภาวะภาพรวมแบบอัตโนมัติให้ได้ว่า ขณะนี้ลมไม่พัดหรือความชื้นไม่สมดุล รวมไปถึงการแจ้งเตือนในกรณีที่มีสารเคมีตกค้าง เป็นต้น
ปัจจุบัน AI Box ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่คุณปฐมเรียกเองนั้น มีวางจำหน่ายแล้ว เพียงผู้ใช้ซื้อไปติดตั้งร่วมกับอุปกรณ์ IoT ก็สามารถใช้งานได้ โดย AI Box มีอัลกอริทึ่ม และมีการเทรนมาแล้วทำให้สามารถทำงานที่ครอบคลุมการใช้งานพื้นฐานได้
2. OEE for Industry
OEE (Overall Equipment Efficiency) สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต แม้ว่าถูกกล่าวถึงมานานแล้ว แต่ในปี 2567 จะถูกลิงก์เข้ากับ Digital Twin ซึ่งจะทำให้ Digital Twin เป็นจริงหลังจากที่การ์ทเนอร์พูดมานานหลายปีแล้ว แต่คนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจในภาพที่ชัดเจนของ Digital Twin มากนัก
OEE จัดว่าเป็น IoT อย่างหนึ่ง ที่จะถูกนำไปติดตั้งเข้ากับเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการติดตามและตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรเหล่านั้น นำไปสู่การเกิดสภาวะ Digital Twin ที่มีการสำเนาข้อมูลไปไว้ในระบบ ช่วยให้บุคลากรสามารถควบคุมประสิทธิภาพของเครื่องจักร อีกทั้งยังระบุความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ทำให้บุคลากรมีข้อมูลการตัดสินใจเพื่อวางแผนบำรุงรักษาเครื่องจักร
ที่ผ่านมาการปฏิรูปองค์กรไปสู่ดิจิทัลหรือ Digital Transformation ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกอยู่รั้งท้ายอุตสาหกรรมอื่น เหตุผลเพราะเครื่องจักรอุตสาหกรรมนั้นมีราคาแพง และเป็นเรื่องเฉพาะทางที่ยุ่งยาก มักทำให้คนไม่อยากจะเข้าไปแตะต้องกลัวจะเกิดปัญหา สำหรับการซ่อมบำรุงนั้นก็จะเป็นไปตามความน่าจะเป็นที่ผู้ดูแลเครื่องจักรคาดเดาเอาเอง
ดังนั้นจะดีแค่ไหน?… ถ้าภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีข้อมูลบ่งชี้ได้ว่า ควรจะซ่อมบำรุงเครื่องจักรตรงไหน รู้ว่าชิ้นส่วนใดกำลังจะเสียในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะต้องรีบสั่งมาเปลี่ยนก่อนที่จะเกิดปัญหาทำให้การผลิตต้องหยุดชะงัก ซึ่งหากปัญหาก็จะส่งผลต่อกระบวนการส่งมอบงานให้กับลูกค้า และแน่นอนว่าหากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับโรงงานผลิตเพื่อส่งออกหลายแห่ง ก็ย่อมมีผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมไปด้วย
ถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ OEE for Industry โดยในปี 2567 และมีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น แพลตฟอร์ม OEE จะถูกติดตั้งเข้ากับเครื่องจักรอุตสาหกรรมเพื่อให้รู้สถานการณ์ทำงานเชิงลึกเป็นประโยชน์ต่อการซ่อมบำรุง อีกทั้งยังมี AI ผนวกรวมเข้าไปใน OEE ก็จะยิ่งทำให้มีการนำข้อมูลมาคาดการณ์และวิเคราะห์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีการแสดงผลผ่านหน้าจอ พร้อมกับแจ้งปัญหาที่แม่นยำ เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการทำงาน การมาของ OEE และ AI จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จาก Digital Transformation
3. AI Risk
ภัยจากการโจมตีจะมีความแยบยลมากยิ่งขึ้น จนแทบดูไม่ออกเลยก็ว่าได้ จากเดิมที่เรารู้ว่ามี Video Deepfake เป็นคลิปที่ใช้ AI ในการปลอมเป็นผู้นำหรือคนดัง แต่เบื้องหลังคือ ใช้ AI เลียนแบบท่าทาง การขยับปากและศรีษะ ตลอดจนท่วงทำนองในการพูดได้เหมือนคนๆ นั้น จนแทบจะแยกไม่ออก
Video Deepfake ของผู้นำมีทั้ง Barack Obama และ Donald Trump อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยที่เป็นที่รู้จักคือ Video Deepfake จัดทำเพื่อให้ความรู้โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ใช้
AI เลียนแบบพระพยอม กัลยาโณ แต่เฉลยในตอนท้ายว่าเป็นเทคนิคที่สร้างขึ้นมาจาก AI
ในปี 2567 การหลอกลวงจะล้ำหน้ายิ่งขึ้น เป็นการหลอกลวงด้านการปลอมเสียง มิจฉาชีพจะใช้ AI ในการปลอมเสียงเพื่อไปหลอกบุคคลเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น ปลอมเสียงนายเอ เพื่อที่จะโทรไปหลอกแม่ของนายเอให้โอนเงินให้ เป็นยุคที่เรียกว่า Personalized Scam เป็น Scam ที่ออกแบบมาเพื่อหลอกบุคคลนั้นโดยเฉพาะ
มิจฉาชีพจะเก็บรวบรวมข้อมูลจาก Social Media และข้อมูลส่วนบุคคลของคนนั้น แล้วนำมาสร้างเสียงเพื่อที่จะโทรไปพูดคุยกับคนในครอบครัวเพื่อที่จะหลอกให้โอนเงิน AI สามารถสร้างเสียงได้เหมือนจริงจนแทบฟังไม่ออกเลย การหลอกลวงยังใช้เทคนิคการพูดคุยในเรื่องที่คนแต่ละรุ่นสนใจ เช่น ถ้าคุยกับวัยกลางคนจะคุยเรื่องการลงทุน ถ้าคุยกับคุณตาคุณยายจะคุยเรื่องหลาน หรือถ้าคุยกับเยาวชนจะคุยเรื่องการหารายได้ เป็นต้น
4. Sea of Platform
เป็นไปตามกระแสโลกที่ปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม (AI เป็นส่วนหนึ่ง) เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ในจำนวนนั้นก็มีทั้งแพลตฟอร์มที่เติบโตจนเป็นผู้นำ และมีทั้งแพลตฟอร์มที่ไม่ประสบความสำเร็จซึ่งจะต้องล้มหายตายจากไป ที่ผ่านมาสินค้าและบริการบางอย่างมีแพลตฟอร์มอยู่ในตัวเองมานานแล้วแต่ผู้บริโภคอาจไม่รู้ ซึ่งนับจากนี้แพลตฟอร์มจะแพร่หลายยิ่งขึ้น
ตัวอย่างหนึ่งคือ “รถยนต์” มีแพลตฟอร์มอยู่ในตัวเองที่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่านั่นคือ แพลตฟอร์ม โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ที่กำลังผลิตออกสู่ตลาดในปัจจุบัน พบว่าประมาณ 80% เป็น Connected Car คือมีซิมอยู่ในระบบของรถยนต์ มาพร้อมกับแอปพลิเคชันที่ให้ผู้ขับขี่ดาวน์โหลดแอปไว้เพื่อสั่งงาน เช่น ล็อคประตู เปิดแอร์ จากระยะไกล เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะก้าวไปเป็นแพลตฟอร์ม
โดยแพลตฟอร์ม คือการนำเอาปฏิสัมพันธ์โดยเฉพาะด้าน Payment เข้าไปอยู่ในรถยนต์ นั่นก็คือ ถ้าวันหนึ่งผู้ขับขี่อยากจะให้รถยนต์คันเดิมที่ใช้อยู่ประจำมีอัตราเร่งที่ดีขึ้น ก็สามารถที่จะซื้อบริการหรือฟังก์ชั่นเพิ่มได้ เพียงแค่จ่ายเงินซอฟต์แวร์ก็จะถูกติดตั้งให้ใช้งานฟังก์ชั่นนั้นได้ทันที
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ประกาศลดราคารถยนต์ โดยในรายละเอียดระบุว่า มีฟังก์ชั่นหลายอย่างถูกตัดออกไป ซึ่งนั่นคือกลยุทธ์การตลาด แต่หากในอนาคตผู้ขับขี่ต้องการฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากกว่าที่ให้มา ก็สามารถที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อฟังก์ชั่นเหล่านั้น และนี่ก็คือ แพลตฟอร์ม
5. Sustainable Technology
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาถึงจุดที่ผู้ใช้งานยังคงใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีที่มีอยู่ได้อย่างคล่องตัวและราบรื่น โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งตามเทคโนโลยีใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งสภาวะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร
ยกตัวอย่างเช่น เรามีคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งใช้งานอยู่ประจำทุกวันที่ใช้มานานหลายปี แต่เมื่อมีคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพด้านในการประมวลผลที่สูงกว่าเดิมออกมา เมื่อผู้ใช้ได้ลองใช้คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ก็ไม่เห็นถึงความแตกต่างของความเร็วดังกล่าว จึงทำให้ผู้ใช้จำนวนมากคิดว่า ศักยภาพของคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้ก็เพียงพอแล้วไม่จำเป็นจะต้องซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ ความคิดเช่นนี้คือ แนวทางของ Sustainable Technology
ในขณะที่ภาคองค์กรธุรกิจทุกวันนี้มุ่งสู่กระแสด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability ที่องค์กรจำเป็นจะต้องตระหนักจนแทบจะกลายเป็นภาคบังคับไปแล้ว ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีข้อกำหนดให้องค์กรในตลาดฯ จะต้องปฏิบัติตามแนวทาง ESG (Environment, Social และ Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน และSDG (Sustainable Development Goals) แนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่ คอนเซ็ปต์ Sustainable Technology ซึ่งเป็นกระแสที่จะบูมในปี 2567 โดยการตระหนักต่อการใช้เทคโนโลยีอย่างพอเพียงและอย่างยั่งยืน
สวนทางกับการมาของ AI ซึ่งการใช้งานจะต้องมีการประมวลผลที่ใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาลไม่ว่าจะเป็น พลังของ CPU จำนวนมาก ต่อเนื่องไปถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกทั้งยังต้องมีการเชื่อมต่อในเครือข่ายหรือเน็ตเวิร์กขนาดใหญ่ ล้วนแล้วแต่สิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมาก
แนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะบูมในปี 2567 ทั้ง 5 ด้านนี้ที่กล่าวมานี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับ AI ทั้งสิ้น ดังที่ได้เกริ่นนำไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เรากำลังอยู่ในยุค “AI for Everything” ซึ่งทุกคนจะได้พบเจอกับ AI อยู่ตลอดเวลา